Table of Content

บทนำ

Calendar Effect ในตลาดหุ้น เรื่องจริงหรืออุปาทานหมู่

Sirirat Sirithamsakda

5 min read

  • 15 FEB 2023
  • Table of Content

    บทนำ

    ถ้าพูดถึงคำว่า ‘อุปาทานหมู่’ ทุกคนคิดถึงอะไรกันบ้าง?

    ‘อุปาทานหมู่’ ที่คนส่วนมากเข้าใจ คือ การกระทำบางอย่างที่คนทำตามๆ กันหรือความเชื่อบางอย่างที่คนหมู่มากเชื่อตามๆ กันไป โดยไม่ได้มีเหตุผลมารองรับ

    จริงๆ แล้วในบางกรณี ‘อุปาทานหมู่’ หรือ Mass Hysteria เป็นปรากฎการณ์ที่เกี่ยวกับจิตสังคม  เกิดขึ้นตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป โดยกลุ่มคนเหล่านั้นจะเชื่อว่าตัวเองเจ็บป่วยเป็นโรคเดียวกัน หรือกำลังเผชิญปัญหาอย่างเดียวกันอยู่ จึงแสดงอาการต่างๆ ออกมาคล้ายๆ กัน 

    ถ้าจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพ ก็คงคล้ายๆ กับว่าเมื่อมีคนหนึ่งในห้องหรือบริเวณใกล้เคียงเกิดไอขึ้นมา คุณก็จะเริ่มรู้สึกคันคอขึ้นมาทันที 

    คุณอาจจะไม่เชื่อว่า เคยมีเหตุการณ์มากมายที่เกิดขึ้นรอบโลกจากอุปาทานหมู่ และไม่ใช่ความเชื่อในวงแคบด้วย แต่เรียกว่าเชื่อกันระดับทั่วบ้านทั่วเมือง ไปจนถึงทั่วโลก 

    ไม่ว่าจะเป็นอุปาทานหมู่ที่ว่าน้ำทะเลหาดมาฮิมในอินเดียมีรสหวาน ทุกคนในเมืองจึงต่างพากันมาดื่มเพราะเชื่อว่าเป็นปาฎิหาริย์ 

    หรืออุปาทานหมู่ที่หลายคนน่าจะผ่านมาด้วยกันคือ ปรากฎการณ์ ค.ศ. 2000 ที่หลายคนเชื่อว่าจะเป็นวันสิ้นโลก และในปีเดียวกันก็เกิดปรากฏการณ์ Y2K ตำนานความผิดพลาดด้านคอมพิวเตอร์ครั้งใหญ่ของโลก เมื่อคอมพิวเตอร์ทุกตัวบนโลกไม่ได้ออกแบบมาครอบคลุมถึงปี 2000 ความเชื่อเรื่องวันสิ้นโลกก็ยิ่งน่าเชื่อเข้าไปอีก 

    ในโลกของการลงทุนก็มีสิ่งที่คล้ายๆ กับอุปาทานหมู่อยู่เหมือนกัน แต่จริงๆ แล้ว ปรากฎการณ์เหล่านั้นมีที่มาที่ไปและเหตุผลของมันอยู่

    มาเปิดปฎิทิน ไขความจริงในโลกตลาดหุ้นว่า Calendar Effect เป็นเรื่องจริงหรือแค่อุปาทานหมู่ กันได้เลย

    Calendar Effect คืออะไร?

    Calendar Effect คือการเปลี่ยนแปลงของราคาตลาดหรือดัชนีตลาดใน วัน เดือน หรือช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งของปี โดยทฤษฎีมากมายยืนยันว่า เกิดจากที่ราคาสินค้าในตลาดมีความสัมพันธ์กับช่วงเวลานั้นๆ และบ่งบอกได้ถึงช่วงเวลาที่ดีหรือไม่ดีในการลงทุนในตลาดหุ้น 

    ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงต้นปีหรือปลายปีจะเป็นช่วงที่ทุกคนต้องการซื้อของขวัญปีใหม่ หรือแม้กระทั่งจองร้านอาหารดีๆ เพื่อเฉลิมฉลองกัน ทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นตามความต้องการของตลาด รวมถึงราคาดอกกุหลาบที่มักจะสูงขึ้นในช่วงวันวาเลนไทน์ หรือราคาหน้ากากอนามัยที่สูงขึ้นเมื่อเกิดโรคระบาดด้วย

    ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุน นอกจากจะเข้าใจความเสี่ยงที่ตัวเองรับได้ เข้าใจสินทรัพย์ที่จะลงทุน การวิเคราะห์ทิศทางการลงทุนหรือภาพรวมของตลาดก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่คุณควรศึกษาเอาไว้ มาดูกันดีกว่าว่าใน 1 ปีปฏิทิน มีปรากฎการณ์อะไรในตลาดหุ้นที่น่าสนใจบ้าง

    Calendar Effect
    Calendar Effect

    January Effect 

    เดือนมกราคมที่แสนยาวนานและหม่นหมองของใครหลายๆ คน เพราะเพิ่งผ่านพ้นช่วงเวลาเทศกาลแห่งความสุขปลายปีมา อาจเป็นความรู้สึกตรงข้ามของนักลงทุนที่ตั้งหน้าตั้งตารอจังหวะตลาดหุ้นขาขึ้น ช่วงเวลาแห่งการปรับพอร์ตและเพิ่มเงินลงทุน 

    January Effect เดือนทองแห่งการลงทุน เป็นทฤษฎีที่ถูกตั้งข้อสังเกตมาแล้วกว่า 80 ปี ตั้งแต่ปี 2485 โดย Sidney B. Wachtel นายธนาคารด้านการลงทุนที่บอกว่า ราคาหุ้นในเดือนมกราคมมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นกว่าเดือนอื่นๆ หรือเมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 

    โดยมีปัจจัยสนับสนุน เช่น การกลับมาเปิดตลาดหลังจากหยุดยาวในช่วงสิ้นปี การขายเพื่อทำกำไรก่อนสิ้นปีและเข้าลงทุนอีกครั้งของนักลงทุนในเดือนมกราคม

    หากมองย้อนหลัง 10 ปีที่ผ่านมา ดัชนี SET TRI ตั้งแต่ปี 2556 – 2565  ทำผลตอบแทนเฉลี่ยเดือนมกราคมเป็นบวกถึง 7 ครั้ง แต่ในช่วงเวลาเดียวกัน ดัชนี S&P 500 TRI ทำผลตอบแทนเฉลี่ยเดือนมกราคมเป็นบวกเพียง 4 ครั้งเท่านั้น

    สรุปได้ว่า January Effect ไม่ได้เกิดขึ้นทุกปี และแต่ละตลาดหุ้นก็ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นพร้อมกัน หลายคนที่พยายามมอง พยายามหาจังหวะลงทุนในเดือนมกราคม ก็คงต้องไปพิจารณากันใหม่แล้วว่าควรเชื่อทฤษฎีนี้มากน้อยแค่ไหน 

    Sell in May and Go Away

    หากเดือนมกราคมเป็นเดือนทองที่น่าลงทุนมากที่สุด เดือนพฤษภาคมก็คงเป็นเดือนที่น่าลงทุนน้อยที่สุด 

    ‘Sell in May and Go Away’ มาจากประโยคที่ว่า ‘Sell in May and go away, and come back on St. Leger’s Day’ ประเพณีของขุนนางพ่อค้าและนายธนาคารที่จะหนีจาก London ออกไปใช้ชีวิตในเมืองอื่น และกลับมาค้าขายอีกรอบช่วงวัน St. Leger’s Day เทศกาลแข่งม้าพันธุ์ดีที่จัดขึ้นในช่วงกลางเดือนกันยายนของทุกปี และยังถูกนำมาใช้ในช่วงวันหยุดในเทศกาล Memorial Day และ Labor Day ของสหรัฐอเมริกาด้วย

    Sell in May and Go Away เป็นทฤษฎีที่เชื่อกันว่า นักลงทุนจะขายหุ้นในเดือนพฤษภาคม เพราะเป็นเดือนที่ตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนน้อยที่สุด โดยมีเหตุผลมาสนับสนุน เช่น นักลงทุนเชื่อว่าไตรมาสแรกของปีซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นมักจะเป็นขาขึ้นได้ผ่านพ้นไปแล้ว บริษัทจดทะเบียนต่างๆ ได้จ่ายเงินปันผลเรียบร้อยแล้ว ทำให้เกิดการเทขายหลังรู้แนวโน้มผลประกอบการ 

    รวมไปถึงในเดือนพฤษภาคม – ตุลาคม เป็นช่วงที่คนจำนวนมากในประเทศฝั่งตะวันตกหยุดยาวพักร้อน ทำให้ตลาดหุ้นมีปริมาณซื้อขายที่น้อยลง นักลงทุนจึงเลือกขายหุ้นทำกำไรก่อนวันหยุด 

    หากมองย้อนหลัง 10 ปีที่ผ่านมา ดัชนี SET TRI ตั้งแต่ปี 2556 – 2565 ทำผลตอบแทนเฉลี่ยเดือนพฤษภาคมเป็นบวกถึง 6 ครั้งใน 10 ครั้ง แต่ในช่วงเวลาเดียว ดัชนี S&P 500 TRI ทำผลตอบแทนเฉลี่ยเดือนพฤษภาคมเป็นบวกกว่า 9 ครั้ง

    จะเห็นว่า Sell in May and Go Away อาจจะใช้ไม่ได้แล้วในยุคนี้ ยุคที่อินเทอร์เนตเข้าถึงเกือบจะทุกพื้นที่ คุณจะหยุดพักร้อนกันอยู่หรือจะไปเที่ยวที่ไหนก็สามารถซื้อขายหุ้นได้ 

    และถ้าดูจากสถิติแล้ว ถ้าใครจะ Sell in May and Go Away ก็อาจจะต้องคิดดีๆ เพราะผลตอบแทนของตลาดหุ้นในเดือนนี้เป็นบวกเกินครึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ขัดกับความเชื่อเดิมเต็มๆ

    Halloween Effect 

    หากใครเคยเดินทางไปต่างประเทศช่วงเทศกาล Helloween ทุกวันที่ 31 ตุลาคมของทุกปี คงได้เห็นความจริงจังของเทศกาลนี้กันมากกว่าที่จะเห็นในบ้านเรา เรียกได้ว่ามากันหมด ไม่ว่าจะเป็น การแต่งตัวเลียนแบบแม่มด ผีสาง เทวดา หรือทุกสิ่งอย่างที่คุณอยากจะเป็นหรือพอจะจินตนาการได้

    เรียกได้ว่า เป็นหนึ่งในเทศกาลประจำปีที่เด็กๆ และผู้ใหญ่ต่างเฝ้ารอ ซึ่งก็เป็นช่วงเวลาที่นักลงทุนเฝ้ารอเหมือนกัน เพราะตามทฤษฎีแล้ว วัน Halloween เป็นจุดเริ่มต้นของช่วงเวลาที่แข็งแกร่งที่สุดของตลาดหุ้น

    โดย Halloween Effect จะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม – 1 พฤษภาคม และตามมาด้วย Sell in May and Go Away นั้นเอง

    เหตุผลสนับสนุนไม่มีแน่ชัด แต่มีความเชื่ออยู่ว่าวันหยุดฤดูร้อนของประเทศฝั่งตะวันตกทำให้สภาพคล่องในตลาดหุ้นลดลง นักลงทุนจึงเริ่มกลับเข้ามาลงทุนในช่วงฤดูหนาวก่อนปิดปีซึ่งมักจะเริ่มต้นในเดือนตุลาคม ก่อนจะถือหุ้นยาวไปจนถึงฤดูใบไม้ผลิ 

    หากมองย้อนหลัง 10 ปีที่ผ่านมา ดัชนี SET TRI ตั้งแต่ปี 2556 – 2565  ทำผลตอบแทนเฉลี่ยเดือนตุลาคมเป็นบวกถึง 6 ครั้ง ขณะที่ดัชนี S&P 500 TRI ทำผลตอบแทนเฉลี่ยเดือนตุลาคมเป็นบวก 7 ครั้ง

    อาจจะสรุปไม่ได้เต็มปากว่า Halloween Effect ไม่มีจริง เพราะถ้าสังเกตจากดัชนี SET TRI และ S&P 500 TRI ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นบวกเป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้าลองดูดีๆ SET TRI ก็ไม่น่าจะได้รับอิทธิพลอะไรจากเทศกาลนี้เพราะไม่ใช่เทศกาลหลักของไทย แต่ก็ยังทำบวกได้ไม่ต่างจากตลาดฝั่งตะวันตกอย่าง S&P 500 TRI 

    December Effect

    เดือนธันวาคม เดือนที่หลายคนรอคอย นอกจากบรรยากาศจะเต็มไปด้วย Festive Vibe แล้ว ในหลายๆ ประเทศก็เป็นช่วงฤดูหนาว บางประเทศก็มีหิมะให้ได้เห็น และเป็นช่วงเวลาที่หลายๆ คนเตรียมบอกลาเรื่องเก่าๆ และเตรียมรีเฟรชตัวเองในการเริ่มต้นใหม่ปีต่อไป 

    ในโลกของการลงทุน เดือนธันวาคมถือเป็นเดือนที่น่าจับตามอง เพราะมีความเป็นไปได้ที่จะเกิด December Effect ที่ตลาดหุ้นจะมีความผันผวน ครึ่งเดือนแรกอาจจะมีการปรับตัวลดลง แต่ในครึ่งเดือนหลังมักจะปรับตัวขึ้น ที่เรียกว่า Santa Claus Rally หรือ Santa Rally 

    โดยเหตุการณ์นี้เกิดจากแรงเทขายของนักลงทุนก่อนเทศกาลวันหยุดยาวในครึ่งเดือนแรก พอมาในครึ่งเดือนหลังจึงมีการเก็งกำไรจากนักลงทุนรายย่อยที่ซื้อหุ้นเก็บข้ามปีเพื่อหวังจะทำกำไรในช่วงต้นปี 

    นอกจากนี้ ยังเป็นช่วงเวลาที่มีการซื้อขายสินค้าจำนวนมากในช่วงเทศกาล ทำให้ผลประกอบการของธุรกิจส่วนใหญ่ในไตรมาสที่ 4 มักจะออกมาดี นักลงทุนจึงใช้ช่วงเวลาก่อนเปิดเผยผลประกอบการในการสะสมหุ้นเข้าพอร์ต รวมเป็นถึงช่วงเวลาที่หลายๆ คนได้เงินโบนัสจากการทำงานมาลงทุนเพิ่มด้วย

    หากมองย้อนหลัง 10 ปีที่ผ่านมา ดัชนี SET TRI ตั้งแต่ปี 2556 – 2565  ทำผลตอบแทนเฉลี่ยเดือนธันวาคมเป็นบวกได้เพียง 5 ครั้ง ส่วนดัชนี S&P 500 TRI ก็ทำผลตอบแทนเฉลี่ยเดือนธันวาคมเป็นบวกเพียง 6 ครั้ง

    ค่อนข้างหักมุมอยู่เหมือนกันที่เทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ที่เห็นกันชัดๆ ว่าพฤติกรรมของเราเองก็เปลี่ยนไป รู้สึกจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นกว่าเดือนอื่นๆ แต่เมื่อมาดูผลตอบแทนดัชนีต่างๆ แล้วก็ไม่ได้ทำผลตอบแทนเป็นบวกได้ทุกปี จึงไม่ได้ทำให้รู้สึกว่า December Effect หรือ Santa Rally มีอยู่จริง

    Calendar Effect มีจริงหรือไม่ 

    หากคุณดูสถิติย้อนหลังก็จะเห็นว่าปรากฎการณ์หรือ Calendar Effect ต่างๆ ไม่ได้เกิดขึ้นทุกปี และแต่ละตลาดหุ้นก็ไม่ได้เกิดขึ้นเหมือนกันหรือพร้อมกันในทุกๆ ปีด้วย

    ปรากฎการณ์เหล่านี้อ้างอิงจากปัจจัยตามฤดูกาลหรือเทศกาลต่างๆ ซึ่งเริ่มไม่ได้มีอิทธิพลกับโลกการลงทุนในปัจจุบัน ที่เทคโนโลยีทำให้คนทั่วไปเข้าถึงการลงทุนได้สะดวกมากขึ้นแล้ว 

    แม้ทุกคนจะลาพักร้อน แต่ก็ยังมีอินเทอร์เนตและเครื่องมือสื่อสารที่พกพาได้อย่างสะดวกสบาย การซื้อขายหุ้นในยุค FinTech ที่รวดเร็วเพียงปลายนิ้วสัมผัส ทำให้วันพิเศษต่างๆ ที่มีอิทธิพลในชีวิตก็ลดน้อยถอยลงไป

    คุณยังควรลงทุนตาม Calendar Effect อยู่หรือไม่ คงไม่มีคำตอบตายตัว แต่ถ้ามองจากสถิติแล้ว ถ้าคุณอยากที่จะลงทุนระยะยาว 5 ปีขึ้นไป ปรากฎการณ์เหล่านี้ก็ไม่ได้มีอิทธิพลกับผลตอบแทนจากการลงทุนในระยะยาวมากนัก 

    เพราะในการลงทุน สิ่งที่สำคัญกว่าคำถามที่ว่า ‘จะเริ่มลงทุนได้เมื่อไหร่’ ก็คือ คุณรับความเสี่ยงได้แค่ไหน จะลงทุนในสินทรัพย์อะไร มีระยะเวลาการลงทุนเท่าไร เป้าหมายในการลงทุนคืออะไร และจะกระจายความเสี่ยงให้ดีที่สุดได้อย่างไรมากกว่า

    อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ถ้าใครอยากมีเครื่องเตือนใจ ว่าลงทุนได้ไม่ต้องแคร์ฤกษ์ Calendar Effect Wallpaper อาจช่วยคุณได้ มาดาวน์โหลดและตั้งเป็นภาพ Desktop ไว้ได้เลย

    หรือถ้าคุณอยากได้ความรู้ดีๆ ส่งตรงถึงคุณทุกสัปดาห์ ก็กรอกอีเมลของคุณไว้ให้เราได้เลยที่ passiveway.com 

    ลงทะเบียนรับความรู้การลงทุน passive

    รับความรู้การลงทุน passive ฟรี เพื่อเริ่มลงทุนอย่างสบายใจ กำไรอย่างยั่งยืน


    1. Calendar Effect (Stock Market) – Explained https://thebusinessprofessor.com/en_US/investments-trading-financial-markets/calendar-effect-stock-market-definition
    2. ทำไมตลาดหุ้นปี 2565 ไม่เป็นขาขึ้นตาม ‘ทฤษฎี January Effect’ https://blog.jittawealth.com/post/why-2022-stock-markets-have-not-been-bullish-in-line-with-january-effect-theory
    3. สถิติบอกว่า…Sell in May and Go Away https://www.finnomena.com/mr-messenger/sell-in-may-and-go-away-stats/
    4. Sell in May and go away ยังใช้ได้จริงหรือไม่? https://www.finnomena.com/akn/sell-in-may-go-away/
    5. เปิดกลยุทธ์รับมือปรากฏการณ์ “Sell in May and Go Away 2022” โอกาสทำกำไรของนักลงทุน
      https://www.kasikornbank.com/th/personal/the-wisdom/articles/Pages/Onward65_Special-Report_2022.aspx
    6. The Halloween Effect: Trick or Truth? https://blog.commonwealth.com/independent-market-observer/the-halloween-effect-trick-or-truth
    7. The Halloween Effect – Real or Lore? https://contentworks.agency/the-halloween-effect-real-or-lore/
    8. ส่อง Timeline ซื้อขายหุ้น ตามปรากฎการณ์ในอดีต https://www.setinvestnow.com/th/knowledge/article/175-investhow-timeline-effect
    9. Santa Claus Rally Definition https://www.investopedia.com/terms/s/santaclauseffect.asp
    10. Santa Claus Rally https://www.fool.com/investing/stock-market/basics/santa-claus-rally/