QVI คืออะไร

QVI ย่อมาจาก quantitative value investing หรือรู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า systematic value investing เป็นการลงทุนเน้นคุณค่า (หรือ VI) รูปแบบหนึ่ง ที่เน้นการวิเคราะห์หุ้นจากตัวเลขสถิติของงบดุล งบกำไรขาดทุน และงบกระแสเงินสดเป็นหลัก ซึ่งเป็นการมองข้อมูลในอดีตที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อค้นหาว่าธุรกิจต่างๆ นั้นน่าลงทุนหรือไม่

การวิเคราะห์ด้วยข้อมูลสถิติแบบนี้เรียกว่าการวิเคราะห์เชิงปริมาณ ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนสามารถหามูลค่าที่แท้จริงของธุรกิจที่ต้องการเข้าไปลงทุน ตัดสินใจได้ว่าราคาที่เหมาะสมที่ควรซื้อคือเท่าไหร่ และลดความเสี่ยงขาดทุนโดยการเลือกซื้อธุรกิจในราคาที่ถูกกว่ามูลค่าที่แท้จริง

ในทางตรงกันข้าม การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพจะใช้วิจารณญาณของนักลงทุนเข้ามาพิจารณาว่า บริษัทผลิตหรือให้บริการอะไร ผู้บริโภคเป็นใคร ผู้บริหารเป็นใคร มีประสบการณ์มากน้อยแค่ไหน คู่แข่งในตลาดมีใครบ้าง ฯลฯ เพื่อเฟ้นหาธุรกิจที่มี “sustainable competitive advantage” หรือ “ความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืน” ซึ่งเป็นหัวใจในการเลือกหุ้นของนักลงทุนชื่อดังอย่างวอร์เรน บัฟเฟตต์  

ซึ่งโดยปกติแล้วนักลงทุนเน้นคุณค่าจะผสมผสานการวิเคราะห์ทั้งสองมิติ แต่จะให้น้ำหนักแบบไหนมากกว่าก็ขึ้นอยู่กับสไตล์ของนักลงทุนแต่ละคน

ถ้าคุณต้องการซื้อหุ้นแล้วถือยาวโดยไม่ขายไปอย่างน้อย 10 ปี คุณก็อาจจะให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์เชิงคุณภาพเป็นหลัก ไม่ต้องกระจายความเสี่ยงเยอะ และไม่จำเป็นต้องซื้อในราคาที่ถูกมากก็ได้ ซื้อในราคาที่เหมาะสม หรือมูลค่าที่แท้จริงของธุรกิจก็โอเคแล้ว

เพราะถ้าธุรกิจดีมากจริงๆ คุณถือไป 20 หรือ 30 ปี กำไรน่าจะแซงต้นทุนไปเยอะมากจนไม่ต้องเสียดาย

แต่นักลงทุนส่วนใหญ่ไม่ได้มองว่าตนเองจะต้องถือหุ้นใดหุ้นหนึ่งนานเป็น 10 ปี…

ยิ่งระยะเวลาการถือครองสั้นเท่าไหร่ ราคาที่จ่ายซื้อหุ้นยิ่งสำคัญ เพราะจะกระทบต่อผลตอบแทนที่คุณจะได้รับ

การลงทุนแบบ quantitative value investing จึงเข้ามามีบทบาทในชีวิตของนักลงทุนมากขึ้นเรื่อยๆ

และต้องขอบคุณระบบคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เช่น การประมวลภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing) การเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) และเทคโนโลยี Big Data ที่ทำให้การลงทุนแบบ QVI สะดวกรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพสูงมากในปัจจุบัน

วิวัฒนาการ QVI

ย้อนกลับไปในยุคก่อนคอมพิวเตอร์ เบนจามิน เกรแฮม อาจารย์ของวอร์เรน บัฟเฟตต์ ร่วมกับเดวิด ดอดด์ ได้เขียนคัมภีร์การลงทุนเน้นคุณค่าชื่อ Security Analysis

เกรแฮมเชื่อว่า การวิเคราะห์หุ้นเชิงคุณภาพเข้าถึงได้ยากสำหรับนักลงทุนส่วนใหญ่ เพราะจำเป็นต้องใช้ความรู้ ประสบการณ์ และข้อมูลเชิงลึกเยอะพอควร ถึงจะคาดการณ์อนาคตของบริษัทได้อย่างแม่นยำ

เกรแฮมจึงเสนอวิธีที่ง่ายกว่า นั่นก็คือ การลงทุนในธุรกิจที่ธรรมดา ในราคาถูก (ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง) เมื่อเทียบกับผลประกอบการในอดีต คำนวณจากงบการเงินของบริษัทนั่นเอง

กลยุทธ์ของเขาคร่าวๆ คือจะซื้อหุ้นที่ราคาถูกหรือถูกมาก เมื่อเทียบกับมูลค่าที่แท้จริง หากวัดเป็น P/E ก็ไม่ควรเกิน 10 เท่า และเพื่อป้องกันไม่ให้เดินหมากพลาด ไปหยิบธุรกิจใกล้เจ๊งมาใส่พอร์ต เกรแฮมจะดูประกอบด้วยว่าฐานะทางการเงินและการทำกำไรของบริษัทมีความมั่นคงมากแค่ไหน และจะพิจารณากำไรต่อหุ้นเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี

นอกจากนี้เกรแฮมยังแนะนำให้ถือหุ้นจำนวนมาก อย่างน้อย 20-30 ตัวเพื่อกระจายความเสี่ยง เพราะเขาให้ความสำคัญกับการเพิ่มกำไรและลดความเสี่ยงเป็นที่สุด!

เกรแฮมไม่ค่อยเชื่อผู้บริหาร ไม่สนใจว่าคนในตลาดหุ้นจะแห่ไปเล่นหุ้นตัวไหน หรือเทขายหุ้นตัวไหน เขาให้ความสำคัญกับ “ของจริงจากตัวเลข” เพราะตัวเลขไม่หลอกใคร

บริษัทไหนที่มีตัวเลขไม่ถึง 3 ปี เขาก็มองว่าบริษัทยังเชื่อถือไม่ค่อยได้เท่าไหร่นัก

การลงทุนแบบเบนจามิน เกรแฮมกลายเป็นที่รู้จักแพร่หลาย และถูกขนานนามว่าเป็นกลยุทธ์ “ก้นบุหรี่” หรือ “cigar butt” ที่มีนักลงทุนนำไปประยุกต์ใช้มากมาย ต่างคนต่างก็ปรับ “สูตร” ให้เข้ากับสไตล์ของตนเอง

หนึ่งในนั้น คือศิษย์เอกวอร์เรน บัฟเฟตต์ และผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์มือทองโจเอล กรีนแบลตต์ เจ้าของหนังสือ คัมภีร์สุดยอดนักลงทุน: The Little Book That Still Beats the Market

สูตรมหัศจรรย์ Magic Formula

โจเอล กรีนแบลตต์มองว่าการลงทุนสไตล์ cigar butt ใช้ได้ผล แต่แค่ระดับหนึ่ง…

เขาเชื่อว่าธุรกิจที่กำลังเติบโต อาจจะไม่ต้องซื้อในราคาที่ถูกมากนักก็ได้ ในขณะเดียวกัน ถ้าธุรกิจกำลังถดถอย ก็ควรจะเผื่อกันชนไว้เยอะๆ ซื้อราคาถูกกว่าปกติมากๆ เพื่อลดโอกาสขาดทุน

กรีนแบลตต์จึงต่อยอดจากแนวทางของเกรแฮม คือยังคงซื้อหุ้นที่ราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง แต่ใช้ข้อมูลด้าน “คุณภาพ” ของธุรกิจเข้ามาประกอบการพิจารณาด้วย ออกมาเป็น “สูตรมหัศจรรย์” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “Magic Formula” (MF)

กรีนแบลตต์วัดศักยภาพในการทำกำไรของธุรกิจ ด้วยอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น หรือ ROE และวัดความถูกแพงของหุ้นด้วยค่า P/E แล้วนำมาจัดอันดับ “คุณภาพดีสุดแต่ราคาต่ำสุด” หรือ ROE สูง P/E ต่ำนั่นเอง

จากนั้นเขาก็เลือกหุ้น 30 ตัวที่เข้าเกณฑ์ที่สุด โดยซื้อตอนต้นปี ถือให้ครบปีแล้วปรับพอร์ต โดยใช้หลักเกณฑ์เดิม

ปรากฏว่า ภายในเวลา 17 ปี ตั้งแต่ ค.ศ. 1988 ถึง 2014 “สูตรมหัศจรรย์” สามารถสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยทบต้น 30.8% ต่อปี ชนะดัชนี S&P500 ที่ทำได้ประมาณ 12.4% ต่อปีเท่านั้น

เนื่องจากเป็นข้อมูลทดสอบผลตอบแทนย้อนหลังหรือ backtest นักลงทุนหลายๆ คนอาจจะแย้งผลตอบแทนที่ควรจะได้จริงอยู่ที่ประมาณ 21.42% ต่อปี

แต่นั้นก็ยังถือว่าการลงทุนแบบ quantitative value investing โดยใช้สูตร Magic Formula ซื้อขายแค่ปีละครั้ง และไม่ต้องวิเคราะห์หุ้นรายตัวเชิงลึกนั้น ให้ผลตอบแทนชนะตลาดถึง 10% อยู่ดี

ในตลาดหุ้นไทย ก็มีดร. ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา ที่ได้ลองใช้สูตร Magic Formula กับตลาดหุ้นไทยช่วงปี ค.ศ. 1996-2010 ก็ได้ผลตอบแทน “มหัศจรรย์” เหมือนกัน

กล่าวคือ ลงทุนแบบ VI ปกติได้ผลตอบทนเฉลี่ยทบต้นต่อปี 36.69% ในขณะที่ Magic Formula ทำได้ 66.18% ภายในเวลา 15 ปี!

หากคุณต้องการลงทุนแบบ QVI ตามสูตร Magic Formula เหมือนกรีนแบลตต์ คุณก็สามารถทำตามได้ไม่ยาก ตามขั้นตอนดังนี้

  1. เรียงลำดับหุ้นทุกตัวในตลาดด้วยค่า ROE แล้วเขียนเลข 1 ข้างๆ ตัวที่มี ROE สูงที่สุด เลข 2 ข้างๆ หุ้นตัวที่มี ROE สูงที่สุดอันดับ 2 และไล่ไปเรื่อยๆ จนครบทุกตัวในตลาด  
  2. เรียงลำดับหุ้นทุกตัวใหม่ด้วยค่า P/E จากต่ำสุดไปสูงสุด จากนั้น ใส่ตัวเลข 1 ข้างหุ้นที่มีค่า P/E ต่ำสุดเป็นเลข เลข 2 ข้างหุ้นที่มีค่า P/E ต่ำที่สุดเป็นอันดับ 2 ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนครบทุกตัวในตลาด  
  3. เอาตัวเลขจากข้อ 1 และ ข้อ 2 ของหุ้นแต่ละตัวมาบวกกัน กลายเป็น “คะแนน” ของหุ้น จากนั้นเรียงลำดับคะแนนจากน้อยไปหามาก
  4. เลือกเฉพาะหุ้นที่มีคะแนนต่ำที่สุด 30 ตัวแรกมาลงทุน ซื้อต้นปี ถือจนครบ 1 ปีค่อยปรับพอร์ต โดยเริ่มทำขั้นตอนที่ 1-3 ใหม่อีกครั้ง ทำซ้ำเรื่อยๆ ทุกปี