วิธีลงทุนที่วอร์เรน บัฟเฟตต์ยังว่าดี เรียบง่าย กำไรยั่งยืนได้ทุกคน

กองทุนดัชนี หรือ Index Fund คือ กองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในหลักทรัพย์ทั้งหมดที่ประกอบกันเป็นดัชนี หรือพูดอีกอย่าง มันก็คือกองทุนที่ลงทุนโดยพยายามเลียนแบบให้ได้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนีที่มันลงทุนตาม

ยกตัวอย่างเช่น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) จะมีการจัดทำดัชนีที่เรียกว่า SET50 Index (หุ้น 50 ตัวที่ใหญ่ที่สุดของตลาดโดยมีเงื่อนไขอื่นอีกนิดหน่อย) ถ้ากองทุนนั้นมีนโยบายลงทุนโดยเลียนแบบ SET50 เพื่อที่จะให้ผลตอบแทนเท่ากับดัชนีนี้ กองทุนก็จะต้องลงทุนในหลักทรัพย์ทั้งหมดที่ถูกนำมาคำนวณดัชนี ซึ่งกรณีปกตินั้นก็จะต้องลงทุนในหุ้น 50 ตัวดังกล่าวที่ประกอบขึ้นเป็นดัชนีเรียงไปตามน้ำหนักของมูลค่าหลักทรัพย์ Market Cap เพราะดัชนี SET50 เป็นดัชนีแบบถ่วงน้ำหนักตามมูลค่าตลาดของหลักทรัพย์ที่เรียกว่า Market cap-weighted Index

ดังนั้น ไม่ว่าดัชนีจะเคลื่อนไหวอย่างไร หุ้นตกหุ้นขึ้น โดยปกติกองทุนดัชนีเหล่านี้ก็จะต้องเคลื่อนไหวไปตามนั้นด้วย กำไรขาดทุนที่ได้รับจะต้องเหมือนกัน เนื่องจากวัตถุประสงค์สูงสุด คือ เลียนแบบผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับดัชนีมากที่สุด พวกมันจึงจะต้องลงทุนตลอดเวลาเต็มอัตรา (Fully Invested) 100% แต่ในสภาพความเป็นจริงก็อาจจะต้องถือเงินสดนิดหน่อยไว้สำหรับคืนเงินให้คนที่ขายกองทุนครับ

เราจะเห็นได้ว่า กลยุทธ์ลงทุนของกองทุนดัชนีนั้น “เรียบง่าย” กองทุนจะทำการซื้อหลักทรัพย์ เช่น หุ้น ที่ประกอบเป็นดัชนีแล้วก็ถือลงทุนไปเรื่อย ๆ (simply buy and hold the securities in a particular index)



1. ประเภทดัชนีที่ Index funds ลงทุน

กองทุนดัชนีนั้นไม่ได้มีแค่กองทุนที่ลงทุนในดัชนีหุ้นนะครับ ไม่ว่าจะเป็นสินทรัพย์ประเภทใด ถ้ามันมีดัชนีที่สามารถลงทุนตามได้ กองทุนดัชนีก็เกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้นนอกจากกองทุนหุ้นแล้ว ก็จะมีกองทุนดัชนีตราสารหนี้ กองทุนดัชนีอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ แต่ที่ฮิตสุดก็คือกองทุนดัชนีหุ้นครับ ที่ดัง ๆ ระดับโลกก็เช่น กองทุนดัชนี S&P500 Index ของสหรัฐ กองทุนดัชนี Nikkei225 ของญี่ปุ่น

กองทุนดัชนีนั้นจะไม่มีการพยายามทำผลตอบแทนให้เกินดัชนีที่มันเลียนแบบ ไม่มีการพยายามหาหลักทรัพย์ที่ชนะในอนาคต ดัชนีประกอบด้วยหุ้นอะไรก็จะต้องซื้อหลักทรัพย์หรือหุ้นตามดัชนีและถือครองตลอดเวลาไปตามนั้น มันจะต้องมั่นคงในนโยบายลงทุนเลียนแบบและกำจัดความคิดที่จะชนะตลาดหรือดัชนีไปซะ

เพราะเหตุนี้กองทุนดัชนีจึงไม่ต้องจ้างนักวิเคราะห์หรือผู้จัดการกองทุนเป็นโหล ๆ มานั่งวิเคราะห์เพื่อคัดเลือกหุ้นหรือพยายามหาวิธีทำผลตอบแทนให้ได้ผลตอบแทนมากกว่าตลาดหรือดัชนี ดังนั้น ค่าใช้จ่ายของกองทุนดัชนีจึง ต่ำกว่า กองทุนที่จ้างผู้จัดการกองทุนมาคัดเลือกหลักทรัพย์หรือหุ้นเพื่อให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าดัชนีชี้วัด (Actively Managed Funds)

และในเมื่อกองทุนดัชนีมันพยายามเลียนแบบดัชนี ผลตอบแทนรวมที่มันจะได้รับก็จะต้องเท่ากับดัชนีดังกล่าว ซึ่งถือว่าเป็นผลตอบแทนขั้นต้น (Gross Returns) หากแต่ผลตอบแทนที่นักลงทุนจะได้รับจริง ๆ จากการลงทุนจะต้องหัก ค่าใช้จ่ายของกองทุนรวม ออกไป เหลือเท่าไหร่ก็จะเป็นผลตอบแทนสุทธิ (Net Returns) ที่นักลงทุนได้รับเข้ากระเป๋าจริง ๆ

ดังนั้น วิธีเลือกกองทุนดัชนีที่ลงทุนในดัชนีเดียวกัน ถ้าทุกอย่างเหมือนกันหมด ตัวเดียวที่จะทำให้ผลตอบแทนคุณหายไป คือ ค่าใช้จ่าย! นักลงทุนที่ชาญฉลาดจึงควรที่จะต้องเลือก กองทุนดัชนีที่มีค่าใช้จ่ายต่ำที่สุด (Lowest-cost)

เพราะฉะนั้นสำคัญมาก เวลาลงทุนกองทุนดัชนี เราจะต้องเอาหลักการสำคัญที่เป็นหัวใจไปทั้ง 2 อย่าง คือ การลงทุนในกองทุนดัชนี และกองทุนดัชนีที่ลงทุนนั้นจะต้องมีค่าใช้จ่ายต่ำที่สุดด้วย

2. ประโยชน์ของ Index funds

ค่าใช้จ่าย—Costs

นี่คือข้อดีที่สำคัญที่สุดและเป็นสิ่งที่ดีเยี่ยมสุด ๆ ในการลงทุน คือ โดยปกตินั้น กองทุนดัชนีจะมี “ค่าใช้จ่ายรวม” (total expenses or costs) ที่ถูกและต่ำกว่ากองทุนแบบบริหารจัดการทั้งหลาย ทำให้โดยปกติในระยะยาวกองทุนดัชนีสามารถทำผลตอบแทนได้เหนือกว่าผลตอบแทนของกองทุนแบบบริหารคัดเลือกหุ้นที่พยายามจะเอาชนะตลาดหรือดัชนีชี้วัด

และในวงการลงทุนนั้น เพียงแค่คุณไม่ต้องจ่ายเพิ่ม เงินที่ประหยัดได้ก็คือผลตอบแทนที่คุณจะได้รับ เพราะในการลงทุนย่อมต้องถือว่า การไม่จ่ายออกไปคือการได้รับกลับมาครับ

คุณอย่าไปเชื่อการกล่าวอ้างของกองทุนรวมที่คิดค่าใช้จ่ายแพง ๆ ยิ่งค่าใช้จ่ายเยอะเท่าไหร่ มันยิ่งกลืนกินผลตอบแทนที่คุณจะได้รับในอนาคต เนื่องจากว่าสิ่งที่ส่งผลกระทบมากอันดับต้น ๆ ต่อผลตอบแทนที่คุณจะได้คือ “ค่าใช้จ่าย” ครับ (Cost is matter!!)

ด้วยเหตุนี้ นักลงทุนจะประสบความสำเร็จในการลงทุนหรือจะล้มเหลวในการลงทุน รวมไปถึงผลตอบแทนในอนาคตที่นักลงทุนจะได้รับนั้นจะเป็นผลตอบแทนที่ดีหรือผลตอบแทนที่แย่และเลวร้าย ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่สำคัญมากนั่นก็คือ ค่าใช้จ่าย (costs)

อ่านเพิ่มเติมเรื่องค่าใช้จ่าย — ค่าใช้จ่ายของกองทุนรวม และ ผลกระทบจากค่าใช้จ่าย

ผลตอบแทน—Returns

เนื่องจากกองทุนพยายามเลียนแบบดัชนีชี้วัด เพราะฉะนั้นในระยะยาว ผลตอบแทนนักลงทุนที่ลงทุนในกองทุนดัชนีก็ควรจะใกล้เคียงผลตอบแทนของดัชนีดังกล่าวครับ เช่น กองทุนที่เลียนแบบดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET) ก็ควรจะได้ผลตอบแทนระยะยาวเท่ากับผลตอบแทนรวมของตลาดหุ้นไทย (ซึ่งจะมาจากส่วนต่างราคาและเงินปันผลทบต้น) แต่คุณจะได้รับผลตอบแทนน้อยกว่าเพราะตัวดัชนีนั้นไม่มีค่าใช้จ่ายแต่กองทุนนั้นมี ซึ่งช่องว่างส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนของดัชนีอ้างอิงกับกองทุนดัชนีจะถูกเรียกว่า “Tracking Error

แต่เชื่อไหมครับระยะยาวนั้นผลตอบแทนของดัชนีและกองทุนดัชนีกลับสูงกว่าผลตอบแทนของกองทุนบริหารจัดการ (actively managed funds or active funds) หรือแม้กระทั่งผลตอบแทนของนักลงทุนที่ลงทุนเอง ยิ่งระยะเวลานานเท่าไหร่ยิ่งมีกองทุนรวมแบบบริหารจัดการคัดเลือกหุ้นน้อยมาก ๆ ที่จะทำผลตอบแทนได้มากกว่ากองทุนดัชนี และยิ่งน้อยลงเข้าไปอีกสำหรับกองทุนที่ทำผลตอบแทนได้มากกว่าดัชนีและทำได้มากกว่าอย่างสม่ำเสมอ

ความน่าจะเป็นของโอกาสที่จะมีผลตอบแทนในอนาคตสูงจึงอาจเรียงลำดับผลตอบแทนที่สูงไปหาต่ำได้ว่า ผลตอบแทนรวมของตลาดหุ้น > ผลตอบแทนของกองทุนดัชนีที่เลียนแบบตลาดหุ้นที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ > ผลตอบแทนของนักลงทุนที่ลงทุนในกองทุนรวมแบบบริหารจัดการ (โดยเฉพาะที่มีค่าใช้จ่ายสูง ๆ) และ ผลตอบแทนของนักลงทุนที่ลงทุนคัดเลือกหุ้นเอง (ส่วนใหญ่)

แม้ผลตอบแทนของกองทุนดัชนีจะไม่ใช่ผลตอบแทนที่สูงที่สุด เป็นแค่เพียงผลตอบแทนของค่าเฉลี่ยหรือผลตอบแทนของตลาดหุ้น (ที่ลดลงมาเพราะหักค่าใช้จ่ายบางส่วน) แต่กลับกลายเป็นว่า ผลตอบแทนของกองทุนดัชนีเหล่านี้กลับมากกว่าผลตอบแทนของนักลงทุนส่วนใหญ่ของตลาดหุ้นไม่ว่าจะนักลงทุนรายย่อยหรือสถาบัน

และนอกจากนี้ ปกติแล้วกองทุนดัชนีจะลงทุนเต็มอัตรา (fully invested) จึงไม่มีผลตอบแทนที่หายไปจากการถือเงินสดไว้ (no cash-drag) เหมือนดังกองทุนบริหารจัดการทั้งหลายและนักลงทุนส่วนใหญ่ที่พยายามจับจังหวะลงทุนถือเงินสดไว้ในมือ

ในขณะที่กองทุนแบบบริหารจัดการพยายามที่จะจับจังหวะลงทุน พวกเขาจึงต้องถือเงินสดไว้บางส่วนตลอดเวลา กองทุนบริหารในระยะยาวจึงมีผลตอบแทนที่ลดน้อยลงไปอีกจากต้นทุนการถือเงินสด เพราะเงินสดแทบจะไม่มีผลตอบแทนหรือผลตอบแทนน้อยกว่าการถือหุ้น(หรือหลักทรัพย์อื่น)อย่างมาก และพวกเขามักจะทำผิดพลาดเสมอ ชอบที่จะมีเงินสดไว้ในมือเยอะ ๆ ตอนที่หุ้นมีราคาถูกและไม่ยอมซื้อหุ้น ซึ่งในทางกลับกัน กองทุนพวกนี้จะมีหุ้นเยอะเต็มพอร์ตตอนที่หุ้นอยู่ในจุดกำลังจะถล่ม

ความเสี่ยง—Risks

กองทุนดัชนีเป็นกองทุนที่มีการกระจายความเสี่ยงอย่างดี (well-diversified) เนื่องจากปกติดัชนีจะประกอบด้วยหลักทรัพย์จำนวนมาก ทำให้กองทุนลงทุนในหลักทรัพย์หลายตัว เช่น ดัชนี SET50 หรือ SET100 อาจจะลงทุนในหุ้น 50-100 ตัว ความเสี่ยงจึงถูกกระจายออกไป ความเสี่ยงเดียวที่จะเหลืออยู่คือความเสี่ยงที่เท่ากับตลาด (market risk or systematic risk) นั่นคือ ถ้าดัชนีตกลงมา กองทุนดัชนีของคุณก็จะตกลงมาพอกันและขาดทุนตามนั้น เนื่องจากการกระจายความเสี่ยงของหุ้นไม่ได้ปกป้องคุณจากการที่ตลาดหุ้นตก การขาดทุนในช่วงระยะเวลาหนึ่ง หรือจากความผันผวนขึ้นลงของตลาดหุ้นในระยะสั้นแต่อย่างใด

หากแต่ความเสี่ยงประเภทถือหลักทรัพย์หรือหุ้นไม่กี่ตัวแล้วมันมีปัญหาจนกระทบเงินทั้งหมดอย่างหนักจะไม่เกิดขึ้นสำหรับผู้ที่ลงทุนในกองทุนดัชนี ซึ่งความเสี่ยงประเภทนี้เป็นความเสี่ยงที่ไม่ใช่ความเสี่ยงระดับตลาด (non-market risk or unsystematic risk) นักลงทุนที่คัดเลือกหุ้นลงทุนเอง หรือถือกองทุนรวมที่เป็นแบบบริหารจัดการคัดเลือกหลักทรัพย์ จึงต้องแบกรับความเสี่ยงของหุ้นรายตัวหรืออุตสาหกรรมที่เน้นลงทุน เช่น ความเสี่ยงจากการบริหารจัดการของบริษัทไม่ดี ความเสี่ยงจากอุตสาหกรรมที่ซบเซา และความเสี่ยงอื่น ๆ ที่มาพร้อมกับการถือหุ้นไม่กี่ตัว หรือถือหุ้นไม่ครบทั้งตลาดเหมือนดัชนีที่กระจายฐานกว้าง (broad-based index)

การกระจายความเสี่ยงที่กองทุนดัชนีมอบให้จึงลดความเสี่ยงที่ไม่เป็นระบบ (unsystematic risk) ทิ้งไป เหลือไว้แต่ความเสี่ยงที่เป็นระบบหรือความเสี่ยงตลาดอย่างเดียว ซึ่งความเสี่ยงที่ไม่เป็นระบบที่ถูกกำจัดทิ้งโดยเฉพาะความเสี่ยงจากหุ้นรายตัว อันนักลงทุนที่ลงทุนหุ้นเองและผู้จัดการกองทุนจะต้องเผชิญว่า บริษัทที่พวกเขาซื้อหุ้นลงทุนจะได้รับผลกระทบอะไรบ้าง เช่น ผลกระทบจากคดีความ ผลกระทบจากคณะกรรมการและผู้บริหารดำเนินงานผิดพลาด ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นความเสี่ยงที่สร้างความปวดหัวและจะต้องมานั่งเสียเวลาหาทางบริหารจัดการและวิเคราะห์มัน

ความเสี่ยงอีกอย่างที่กองทุนดัชนีกำจัดทิ้งได้ คือ Management Risk ซึ่งเป็นความเสี่ยงอันเนื่องมาจากนโยบายและวิธีการลงทุน ความเสี่ยงเรื่องการเปลี่ยนแปลงผู้จัดการกองทุน หรือความเสี่ยงที่ฝีมือของกองทุนหดหายหรือด้อยลงด้วยสาเหตุใดก็ตาม เพราะกองทุนดัชนีมีโนบายลงทุนคงที่ตลอดเวลา (consistent strategy) โดยมันต้องลงทุนเลียนแบบดัชนีไปเรื่อย ๆ จึงหมดปัญหาความเสี่ยงที่ว่า วันดีคืนดีกองทุนจะเปลี่ยนไปใช้กลยุทธ์อื่นลงทุน หรือความไม่เสถียรจากฝีมือใด ๆ ของผู้จัดการกองทุน หรือบางทีไม่ต้องภาวนาว่าดวงและโชคดีของผู้จัดการกองทุนจะยังมีตลอดไปในอนาคตหรือไม่

ด้วยเหตุนี้ กองทุนดัชนีที่มีการกระจายความเสี่ยงอย่างดีจึงกำจัดทิ้งทั้งความเสี่ยงในการเลือกหุ้นหรือหลักทรัพย์รายตัว ความเสี่ยงในการเลือกผู้จัดการกองทุน ความเสี่ยงในการเลือกสไตล์และวิธีลงทุน คงเหลือไว้ก็แต่ความเสี่ยงระดับตลาดหรือความเสี่ยงที่เป็นระบบ ซึ่งแค่ความเสี่ยงนี้อย่างเดียวก็หนักหนาและพอแล้วสำหรับการลงทุน

อ่านเพิ่มเติมเรื่องความเสี่ยง — ความเสี่ยง (risks)

เวลา—Time

อันนี้เป็นการผสานกันของข้อดีข้างบนจนได้ตัวนี้ครับ เนื่องจากกองทุนดัชนีมีค่าใช้จ่ายรวมที่ต่ำทำให้ผลตอบแทนในอนาคตหลังหักค่าใช้จ่ายจะใกล้เคียงกับผลตอบแทนตลาดหุ้น และจากงานวิจัยจำนวนมากก็พบว่า ผลตอบแทนของพวกมันมากกว่ากองทุนแบบบริหารจัดการ (actively managed funds) ทั้งหลาย

อีกทั้งนโยบายการลงทุนก็คงที่ ทำให้มันเหมาะอย่างมากที่จะลงทุนระยะยาวโดยได้รับผลตอบแทนทบต้นตามที่ควรจะเป็นของสินทรัพย์ดังกล่าวที่มันหรือดัชนีเลียนแบบ คุณจึงสามารถใช้กองทุนดัชนีเป็นเครื่องมือในการลงทุนโดยยึดเป็นแกนหลักของพอร์ตลงทุนระยะยาวได้เลย (Core or Long-Term investment)

เนื่องจากกองทุนดัชนีมันเลียนแบบดัชนี คุณจึงไม่มีภาระหน้าที่หรือต้องใช้เวลามานั่งติดตามว่ากองทุนจะลงทุนอะไร กองทุนจะไปทำอะไรแปลก ๆ หรือเปล่า อีกทั้งการติดตามก็ทำได้ง่าย เพราะมันเคลื่อนไหวตามดัชนีชี้วัด ถ้าสมมติตลาดหุ้นตกหนัก คุณอนุมานได้เลยว่า กองทุนของคุณต้องตกลงมาพอกัน ซึ่งในบางครั้งที่ตลาดหุ้นตกหนักมากคุณอาจลงทุนเพิ่มเป็นพิเศษได้

และรูปแบบของกองทุนดัชนีก็เป็นการลงทุนที่ “เรียบง่าย” คุณจึงสามารถนำเวลาอันมีค่าไปทำอย่างอื่นที่สำคัญในชีวิตได้โดยไม่ต้องมานั่งติดตามอะไรมันมาก แค่ทำตามวินัยและอดทนตามแผนลงทุนที่กำหนดไว้พอ เหมือนที่ Warren Buffett เคยพูดอย่างเห็นภาพไว้ว่า ลงทุนประจำในกองทุนดัชนีที่มีต้นทุนต่ำ ไม่ลงทุนหนักครั้งเดียว ลงทุนไปเรื่อย ๆ ลืมมันไปซะแล้วก็กลับไปทำงาน (Forget it and go back to work.)

ข้อดีอีกอย่างหนึ่งคือ คุณสามารถจัดพอร์ตลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพได้ โดยใช้กองทุนดัชนีกับทุกสินทรัพย์ที่เราลงทุน เช่น กองทุนดัชนีหุ้น กองทุนดัชนีตราสารหนี้ โดยไม่ต้องมีความเสี่ยงจากการหักเหผลตอบแทน เพราะไม่ใช่กองทุนบริหารจัดการที่ต้องขึ้นอยู่กับฝีมือของผู้จัดการกองทุน

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณต้องการลงทุนหุ้น 90% ตราสารหนี้ 10% คุณก็แค่ซื้อกองทุนดัชนีหุ้น 90% กองทุนดัชนีตราสารหนี้ 10% ในขณะที่กองทุนบริหารจัดการนั้น โดยปกติคุณจะต้องเผชิญกับการถือเงินสดจับจังหวะของผู้จัดการกองทุน นั่นเท่ากับว่า มีโอกาสที่สัดส่วนการลงทุนของคุณจะเพี้ยนได้ สมมติกองทุนถือเงินสด 10% สัดส่วนที่คุณลงทุนหุ้นจริงก็จะลดจาก 90% ของสินทรัพย์ในพอร์ตลงทุนของคุณ ลงมาเหลือเพียง 81% เท่านั้น กลายเป็นว่าคุณมีสัดส่วนเงินลงทุนในตราสารหนี้ขยับขึ้นเป็น 19% ไปซะงั้น ผลตอบแทนที่คาดหวังในอนาคตจึงไม่เป็นไปตามที่คุณตั้งใจและวางแผนไว้

ดังนั้น คุณสามารถสร้างตะกร้าลงทุนที่ได้ผลตอบแทนแท้ ๆ จากการผสมกันของทรัพย์สินต่าง ๆ อย่างใกล้เคียงที่สุด โดยการลงทุนแต่ละสินทรัพย์นั้นในกองทุนดัชนีครับ

3. ข้อเสียของกองทุนดัชนี

กองทุนดัชนีมีข้อดีก็ต้องมีข้อเสียข้อด้อยครับ คือ อย่างแรก “มันน่าเบื่อ” คุณจะไปพูดคุยความหวือหวาไม่ได้เลย เพราะมันก็เคลื่อนไหวไปตามธรรมชาติของผลตอบแทนหุ้นครับ ไม่มีการลงทุนในหุ้นหรืออุตสาหกรรมร้อนแรง (แต่ระยะยาวพวกนี้กลับเป็นข้อดีนะครับ) และคุณจะไม่สามารถอ้างได้ว่า คุณได้ถือกองทุนที่ผลตอบแทนดีเยี่ยมที่สุด เพราะทุกช่วงเวลาจะมีกองทุนร้อนแรงหรือกองทุนดาวรุ่งที่ทำผลตอบแทนได้มากกว่ากองทุนดัชนีอยู่แล้ว มันเป็นเรื่องปกติครับ เสียเวลาที่จะมานั่งงมหา มองผ่านมันไปซะ

หากแต่อย่างไรก็ดี การจะหาว่าใครหรือกองทุนกองไหนจะชนะกองทุนดัชนีในอีก 20-40 ปีข้างหน้า คุณจะตอบไม่ได้เลย มันจึงเป็นความฉูดฉาดในช่วงเวลาสั้น ๆ เพราะในโลกของกองทุนรวมนั้น การพยายามหากองทุนที่ทำผลตอบแทนได้สูงสุดมักจะนำไปสู่ผลตอบแทนต่ำเตี้ยเรี่ยดินในอนาคตครับ และการดูผลตอบแทนย้อนหลังก็ไม่ช่วยนักลงทุนทำนายอนาคตได้แต่อย่างใด

Searching for superior active funds is an inferior strategy. — Richard A. Ferri

ข้อเสียต่อมาคือ เนื่องจากมันต้องถือสินทรัพย์เต็มที่ตลอดเวลา เวลาดัชนีที่มันเลียนแบบ เช่น ดัชนีตลาดหุ้นตกหรือร่วงแรง กองทุนดัชนีก็จะตกลงมาด้วยพอ ๆ กัน จึงไม่เหมือนกองทุนแบบบริหารจัดการที่อาจจะถือเงินสดลดแรงกระแทกได้ แต่จะบอกว่าในระยะยาวกลยุทธ์ถือเงินสดของกองทุนบริหารจัดการดังว่านั้น ไม่สามารถสร้างผลตอบแทนสูง ๆ ในระยะยาวได้หรอกครับ เพราะพวกเขามักจะจับจังหวะช้าไปหนึ่งจังหวะเสมอ การถือเงินสดจึงเป็นกลยุทธ์ด้อยของกองทุนแบบ Actively Managed Funds อย่างหนึ่ง

ในความเป็นจริง กองทุนรวมเหล่านี้มักจะถือเงินสดมากตอนที่ตลาดหุ้นตกหนักมาแล้วและถือเงินสดน้อยนิดตอนที่ตลาดหุ้นอยู่ยอดดอย เช่น ตอนก่อนปี 1973-1974 ซึ่งตลาดหุ้นกำลังจะถล่มหนัก กองทุนรวมโดยเฉลี่ยถือเงินสดแค่ 4% ของสินทรัพย์ (ถือหุ้น 96%) แต่ในทางตรงกันข้ามพอตลาดหุ้นตกมาหนักแล้วแทนที่กองทุนจะซื้อหุ้น กองทุนก็ถือเงินสดในสัดส่วน 12% ของสินทรัพย์แทน

สาเหตุก็เพราะการพยายามจับจังหวะลงทุน (Market Timing) มันเหมือนการทอยเหรียญ คุณต้องถือเงินสดในขั้นต้นคือทายถูกว่าตลาดหุ้นจะร่วงไปอีก และคุณต้องทายถูกอีกรอบว่าคุณจะต้องกลับมาซื้อตอนไหน

เพราะถ้าตลาดฟื้นขึ้นมา แล้วกองทุนบริหารจัดการไม่มีหุ้น ผลตอบแทนก็จะถูกหักล้างจากการถือเงินสดและผลตอบแทนระยะยาวก็จะน้อยลงไปเรื่อย ๆ ซึ่งจากงานวิจัยในต่างประเทศรวมถึงจากในอดีตของไทย ปกติพวกเขาก็จับจังหวะพลาดแบบนั้นกันเป็นปกติอยู่แล้ว

4. Index Funds : บทสรุป

ด้วยเหตุนี้ สำหรับนักลงทุนทั่วไป กองทุนดัชนีค่อนข้างเป็นตัวเลือกที่ดีลำดับต้น ๆ ในการลงทุนแล้วครับ Warren Buffett ซึ่งเป็นนักลงทุนเอกคนหนึ่งของโลกได้แนะนำให้นักลงทุนส่วนใหญ่ลงทุนในกองทุนดัชนีที่มีค่าใช้จ่ายที่ต่ำ เพราะระยะยาวแล้ว การลงทุนในกองทุนประเภทนี้ จะทำให้นักลงทุนได้ผลตอบแทนมากกว่านักลงทุนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนรายย่อยด้วยกัน หรือแม้กระทั่งมากกว่านักลงทุนสถาบันผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย

“Let me add a few thoughts about your own investments. Most investors, both institutional and individual, will find that the best way to own common stocks is through an index fund that charges minimal fees. Those following this path are sure to beat the net results (after fees and expenses) delivered by the great majority of investment professionals.” — Warren Buffett from 1996 letter to shareholders

ที่มา : Bear Investor – Index Funds 101 – กองทุนดัชนี คืออะไร?