คุณเคยเข้าไปส่องเฟซบุ๊ก อินสตาแกรมหรือโซเชียลมีเดียของใครสักคน แล้วเจอตัวอักษร 4 ตัวระบุอยู่บนโปรไฟล์หรือไม่ หรือโปรไฟล์ของคุณอาจจะมีระบุอยู่ด้วยเหมือนกัน
ตัวอักษร 4 ตัวที่ว่า คือผลลัพธ์ของแบบทดสอบบุคลิกภาพที่เรียกว่า MBTI หรือ Myers-Briggs Type Indicator เป็นเหมือนเครื่องมือที่ใช้ชี้วัดการรับรู้และการตัดสินใจของมนุษย์
จากการศึกษาและสังเกตพฤติกรรมมนุษย์ของ Carl Gustav Jung จิตแพทย์ชาวสวิส ผู้ก่อตั้งแนวคิดจิตวิทยาวิเคราะห์ (Analytical Psychology) และถูกพัฒนาขึ้นโดย Katharine Cook Briggs และ Isabel Briggs Myers จนออกมาเป็น 16 บุคลิกภาพ (Personality Types) เช่น ISFP INFT ISTJ ESTP เป็นต้น
MBTI ถือเป็นการทดสอบบุคลิกภาพที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เป็นหนึ่งใน Personality Traits ที่หลายคนเคยทดสอบ และจำได้ขึ้นใจ
แต่ยังมีอีกแบบทดสอบหนึ่งที่เป็นที่นิยมไม่แพ้กัน นั้นก็คือ Big 5 Personality Traits หรือ บุคคลิกภาพ 5 องค์ประกอบ ที่ประกอบไปด้วย ความเปิดรับประสบการณ์ (Openness to experience) ความมีจิตสำนึก (Conscientiousness) ความสนใจต่อโลกภายนอก (Extraversion) ความเป็นมิตร (Agreeableness) และ ความอ่อนไหวทางอารมณ์ (Neuroticism)
Big 5 เป็นรูปแบบหนึ่งในการจัดกลุ่มของบุคลิกภาพที่ได้รับความนิยมจากนักจิตวิทยาว่าสามารถช่วยอธิบายถึงโครงสร้างของบุคลิกภาพของบุคคลในระดับสากลได้ เป็นจิตวิทยาเชิงทฤษฎีที่เดิมถูกพัฒนาโดย Lewis Goldberg ในปี 2503 แต่ต่อมาได้รับการทดสอบโดย Robert McCrae และ Paul Costa ในปี 2530
นอกจาก Big 5 จะช่วยทำให้เราเข้าใจบุคลิกภาพ 5 องค์ประกอบของตัวเองมากขึ้น ยังมีการศึกษาที่พบว่า Big 5 ช่วยในการวางแผนการเงินของคุณได้
Big 5 ช่วยวางแผนการเงิน
แล้ว Big 5 จะช่วยวางแผนทางการเงินได้อย่างไร
มีการศึกษามากมายที่ใช้ Big 5 ในบริบทต่างๆ แล้วพบว่า มันเกี่ยวข้องกับทุกสิ่งทุกอย่างตั้งแต่ ความสำเร็จ ความสามารถในการปรับตัว การก่ออาชญากรรม และการดูแลสุขภาพ
ตัวอย่างงานศึกษาของ Robinson Demetre และ Corney ในปี 2010 พบว่า ความพึงพอใจหลังเกษียณอายุมีความสัมพันธ์กับ ความมีจิตสำนึก (Conscientiousness) และความเป็นมิตร (Agreeableness) คนที่ความมีจิตสำนึกสูงจะสามารถรับความเปลี่ยนแปลงได้ดีกว่า และคนที่มีความเป็นมิตรสูงก็จะรักษามิตรภาพได้ดีกว่าคนอื่น
การศึกษาของ Nabeshima และ Seay ในปี 2558 ที่ตีพิมพ์ใน Journal of Financial Planning พบว่า ความมั่งคั่งสัมพันธ์กับ ความสนใจต่อโลกภายนอก และความมีจิตสำนึก โดยปัจจัยทั้งสองอย่างนี้มักแปรผันตรงกับความสำเร็จในอาชีพที่สูงขึ้น หมายความว่ารายได้ก็มีแนวโน้มสูงขึ้นด้วย กลายเป็นความมั่งคั่งในที่สุด
หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชี้ว่า Big 5 สามารถบอกถึงลักษณะการทำงานที่คุณชอบ บทบาทการเป็นผู้นำของคุณ และความสำเร็จในอนาคตของแต่ละคนได้ ลักษณะทั้งหมดช่วยบอกถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายของคุณ ทำให้คุณเข้าใจพฤติกรรมทางการเงินของคุณ ช่วยให้คุณปรับเปลี่ยนการวางแผนทางการเงินและกำหนดค่าใช้จ่ายให้ตรงกับพฤติกรรมได้มากขึ้น เพื่อการใช้จ่ายอย่างมีความสุขและสร้างความมั่นคงทางการเงินโดยไม่กดดันจนเกินไป
แต่จะมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง บุคลิกภาพแบบไหน ต้องจัดการเงินอย่างไร ไปหาคำตอบกันได้เลยในบทความนี้
Big 5 ของคุณเป็นอย่างไร
ก่อนที่คุณจะไปทำความเข้าใจกับ 5 วิธีการจัดการเงินให้งอกเงิยด้วยศาสตร์ Big 5 Personality Traits ไปทำแบบทดสอบกันที่นี่
เมื่อคุณทำแบบทดสอบเรียบร้อยแล้ว จะสังเกตได้ว่า ทุกคนจะมีบุคลิกภาพทั้ง 5 องค์ประกอบ แต่จะมีคะแนนสูงต่ำแตกต่างกัน ซึ่งองค์ประกอบทั้ง 5 ที่มีระดับแตกต่างกันนี้ทำให้เราทุกคนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
และให้สังเกตต่อว่าคุณมีคะแนนในแต่ละด้านเป็นอย่างไร คะแนนด้านไหนสูง บ่งชี้ว่าคุณมีลักษณะเด่นในด้านนั้น ลักษณะนั้นเองจะบ่งบอก จุดเด่น ข้อด้อย และพฤติกรรมการใช้เงินของคุณได้
ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวของทุกคน ทำให้การวางแผนการเงินที่เหมาะสมเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล เราจึงได้จัดทำแผนทางการเงินให้คุณได้ลองเอาไปปรับใช้ ผสมผสานให้ออกมาเป็นเวอร์ชันที่ดีที่สุด เหมาะสมที่สุดสำหรับตัวคุณเอง
เข้าใจหลักการวางแผนการเงิน
ก่อนที่คุณจะผสมผสานแผนทางการเงินของคุณให้ออกมาในเวอร์ชันที่ดีที่สุด มาทำความเข้าใจหลักการการวางแผนการเงินกันก่อน
การวางแผนทางการเงินมีหลายจุดประสงค์ เช่น การวางแผนชีวิตระยะยาว วางแผนควบคุมกระแสเงินสด วางแผนภาษี วางแผนมรดก แต่ในทีนี่เราจะพูดถึง การวางแผนค่าใช้จ่ายพื้นฐาน ซึ่งเป็นคำแนะนำวิธีการจัดการเงินเบื้องต้นในชีวิตประจำวัน เพื่อให้คุณมีรายรับมากกว่ารายจ่าย มีเงินเหลือเก็บตามเป้าหมาย และสามารถเตรียมพร้อมสำหรับการลงทุนในอนาคตได้
ซึ่งเราสามารถจำแนกหมวดหมู่ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันออกมาได้ 6 หมวด ดังนี้
- ค่าใช้จ่ายจำเป็น เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าของใช้ภายในบ้าน
- หนี้สิน เช่น ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ ค่าผ่อนสินค้า และค่าบัตรเครดิต
- สันทนาการ เช่น ค่ากินดื่มเพื่อสันทนาการ ค่าเดินทางสำหรับการท่องเที่ยว ค่ากิจกรรม ค่าใช้จ่ายเพื่อความสวยงาม ค่าสินค้าฟุ่มเฟือย และค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ
- ค่าใช้จ่ายป้องกันความเสี่ยง เช่น ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ และเงินสำรองฉุกเฉิน
- เงินออมและลงทุน เช่น ออมเพื่อเกษียณ ออมเพื่อท่องเที่ยว และออมเพื่อเป้าหมายอื่นๆ ทั้งระยะสั้น กลาง ยาว
- ค่าใช้จ่ายเพื่อสังคมและผู้อื่น เช่น การบริจาคองค์กรการกุศล การซื้อสินค้าเพื่อช่วยเหลือสังคม และประกันชีวิตเพื่อเงินประกันให้คนอื่น
โดยค่าใช้จ่ายทั้ง 6 หมวดนี้สามารถนำมาแบ่งสัดส่วนตามมาตรฐานการวางแผนการเงิน โดยข้อมูลจาก CFP แบ่งสัดส่วนหนี้อยู่ที่ 15 – 45% เงินออมอยู่ที่ 10% เราจึงจัดสัดส่วนที่เหลืออย่าง ค่าใช้จ่ายจำเป็น สันทนาการ ค่าใช้จ่ายเพื่อป้องกันความเสี่ยง และค่าใช้จ่ายเพื่อสังคม ตามสัดส่วนที่เหมาะสมดังนี้
ซึ่งเราจะใช้สัดส่วนมาตราฐานนี้ ในการยกตัวอย่างแผนการเงินที่เหมาะสมตามบุคลิกภาพโดดเด่นของคุณ มาเตรียมผสมแผนการเงินที่ลงตัวกันได้เลย
เข้าใจ Big 5 ของตัวเองกำหนดแผนการเงิน
หลังจากคุณทำแบบทดสอบแล้ว ได้คะแนนด้านไหนมากที่สุด…
1. ความเปิดรับประสบการณ์ (Openness to Experience)
ลักษณะนิสัยนี้ แสดงถึงแนวโน้มเปิดกว้างรับความแปลกใหม่ของแต่ละคน ซึ่งความแปลกใหม่นี้ เป็นไปได้ทั้งความแปลกใหม่ทางสิ่งแวดล้อม ความคิด หรือแม้แต่อารมณ์ความรู้สึก คนที่เปิดรับความแปลกใหม่หรือได้คะแนนด้านนี้สูง จึงมักเป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์ มีจินตนาการ เข้าใจคุณค่าของศิลปะ ชอบกิจกรรมผจญภัย หรือประสบการณ์สุดโต่ง ตรงกันข้าม คนที่ได้คะแนนด้านนี้ต่ำ จะเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับความสม่ำเสมอและความแน่นอนมากกว่า จึงไม่มีปัญหากับการทำอะไรซ้ำๆ สามารถทำและพัฒนาสิ่งเดิมไปได้เรื่อยๆ เพื่อความสมบูรณ์แบบ
“ในทางการเงิน ความเปิดกว้าง ชอบความแปลกใหม่ ชอบทำกิจกรรม และเข้าสังคม ทำให้คนกลุ่มนี้มีโอกาสที่จะใช้เงินไปกับสินค้าประเภทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือการสังสรรค์ทำกิจกรรม อีกแง่หนึ่งแนวโน้มของการใช้จ่ายซื้อสินค้าที่ใช้ภายในบ้านจะน้อยมาก เพราะไม่คอยอยู่ติดบ้านสักเท่าไหร่ หากคุณมีคะแนนความไม่สมดุล (Immoderation) สูง อาจมีแนวโน้มในการใช้จ่ายเกินตัว เพราะชอบทำกิจกรรมเป็นพิเศษ” – มิรา ศรีพรหมมุนี Human Behavior Analyst
แผนจัดเงินให้เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ คนกลุ่มนี้อาจมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายที่จำเป็นน้อยกว่าคนอื่น เพราะชอบทำกิจกรรมนอกบ้าน แต่มีค่าใช้จ่ายด้านกิจกรรมสันทนาการมากกว่าคนปกติ เพราะชอบเข้าสังคมและทำกิจกรรมใหม่ๆ
“คนกลุ่มนี้ควรแบ่งสัดส่วนค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้ชัดเจน ให้สมดุลกับการใช้ชีวิต อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญสำหรับคนกลุ่มนี้คือ การทำประกันชีวิต ประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุ เนื่องจากเป็นคนชอบลองอะไรใหม่ๆ ชอบความเสี่ยง จึงมีแนวโน้มและความเสี่ยงมากกว่าคนอื่น ในเรื่องการลงทุน คนกลุ่มนี้มักไม่ชอบที่จะวางแผนระยะยาว วิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือ ใช้เทคโนโลยีเกี่ยวกับการลงทุนเข้ามาช่วย เช่นการหักและโอนเข้าบัญชีเงินฝาก หรือพอร์ตลงทุนอัตโนมัติ ทุกๆ เดือน” – คุณากร มหานิล, CFA
ตัวอย่างสัดส่วนค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมสำหรับคนกลุ่มนี้:
ค่าใช้จ่าย | สัดส่วนจากรายได้ |
ค่าใช้จ่ายจำเป็น | 35% |
หนี้ | 15% |
สันทนาการ | 30% |
ค่าใช้จ่ายป้องกันความเสี่ยง | 10% |
เงินออมและลงทุน | 10% |
2. ความมีจิตสำนึก (Conscientiousness)
ลักษณะนิสัยนี้ แสดงถึงแนวโน้มของวินัยในตัวเอง รู้จักหน้าที่ของตัวเองว่าอะไรควรหรือไม่ควรทำ ยึดถือในระเบียบแบบแผน ทำให้ส่วนมากเป็นคนที่ชอบวางแผนอยู่เสมอ ประกอบกับคนกลุ่มนี้มักเป็นคนพิถีพิถัน เป็นคนละเอียดอ่อนเป็นพิเศษ ทำให้หากวางแผนอะไรก็มีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จสูง และความชอบอะไรที่สมบูรณ์แบบอยู่เสมอนั้น ทำให้คนกลุ่มนี้มีแนวโน้มว่าจะเครียดได้ง่ายด้วย
“ในทางการเงิน การมีวินัยในตัวเองสูง ชอบวางแผนในชีวิตเป็นทุนเดิม ทำให้คนกลุ่มนี้สามารถวางแผนทางการเงินด้วยตัวเองได้ดี และมีแนวโน้มในการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยต่ำ วินัยในตัวเองทำให้คนกลุ่มนี้รักการดูแลตัวเองเป็นพิเศษ มีแนวโน้มในการจ่ายเงินให้กับสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพสูง แต่ถ้าคนกลุ่มนี้มีความอ่อนไหวทางอารมณ์สูง (Neuroticism) ก็มีโอกาสละเลยการทำประกันสุขภาพ เพราะคิดว่าตัวเองดูแลตัวเองดีพอแล้ว” – มิรา ศรีพรหมมุนี Human Behavior Analyst
แผนจัดเงินให้เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ คนกลุ่มนี้ชอบวางแผน ทำให้มีแนวโน้มในการกักตุนสินค้าจำเป็นเช่น อาหาร เครื่องใช้ต่างๆ ภายในบ้านมากกว่าคนกลุ่มอื่น เป็นคนกลุ่มที่มีแนวโน้มวางแผนเรื่องค่าใช้จ่ายด้านความเสี่ยง เช่นการทำประกันต่างๆ การออม และการลงทุนมากกว่าคนกลุ่มอื่น มักชอบอยู่กับตัวเองทำให้ค่าใช้จ่ายเรื่องสันทนาการ การทำกิจกรรมน้อย
“คนกลุ่มนี้มักเป็นคนที่ใส่ใจการวางแผนทางการเงินเป็นทุนเดิม มีสัดส่วนการใช้จ่ายและระเบียบแบบแผนที่ชัดเจน อย่านิ่งนอนใจกับค่าใช้จ่ายป้องกันความเสี่ยง พวกประกันชีวิต ประกันสุขภาพ เพราะสามารถทำไว้ได้เพื่อลดความเสี่ยงด้านค่าใช้จ่ายในอนาคต ด้านการลงทุน เนื่องจากคนกลุ่มนี้มีความรอบคอบเป็นพิเศษ สามารถศึกษาและเลือกการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวเองได้ดี และมีแนวโน้มว่าจะลงทุนมากกว่าคนกลุ่มอื่น ที่สำคัญหากคนกลุ่มนี้มีคะแนนความไม่สมดุล (Immoderation) และ ความเปิดรับประสบการณ์ (Openness to experience) ต่ำ จะยิ่งสามารถวางแผนการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ” – คุณากร มหานิล, CFA
ตัวอย่างสัดส่วนค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมสำหรับคนกลุ่มนี้:
ค่าใช้จ่าย | สัดส่วนจากรายได้ |
ค่าใช้จ่ายจำเป็น | 50% |
หนี้ | 15% |
สันทนาการ | 10% |
ค่าใช้จ่ายป้องกันความเสี่ยง | 5% |
เงินออมและลงทุน | 20% |
3. ความสนใจต่อโลกภายนอก (Extraversion)
ลักษณะนิสัยนี้ แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มในการเปิดรับปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นและสังคมภายนอก มักเป็นคนที่กระตือรือร้น ร่าเริงกระฉับกระเฉง กล้าแสดงออก คุยเก่ง ทำให้ไม่ชอบเก็บอารมณ์และความรู้สึกของตัวเอง มีความต้องการที่จะมีปฏิสัมพันธ์และทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น ทำให้มีแนวโน้มในการชอบทำงานร่วมกับคนอื่น ไม่ชอบทำอะไรคนเดียว เป็นคนที่ชอบการเปรียบเทียบ ทำให้รักการแข่งขัน
“ในทางการเงิน คนกลุ่มนี้ชอบเข้าสังคม ชอบอยู่กับผู้อื่น ทำให้มีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายด้านสังคมสูง เช่นค่าใช้จ่ายเรื่องอาหาร เครื่องดื่ม รวมไปถึงการเดินทางท่องเที่ยวด้วย การชอบความแข่งขันและเปรียบเทียบ ทำให้มักมีค่าใช้จ่ายเรื่องความสวยความงาม เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้ตัวเอง เช่น เสื้อผ้า เครื่องสำอาง เป็นต้น และหากคนกลุ่มนี้มีคะแนนด้านความมีจิตสำนึก (Conscientiousness) สูงประกอบด้วยจะเป็นคนที่กล้าใช้จ่าย กล้าลงทุน แต่ถ้าคะแนนด้านนี้ต่ำ ก็มีโอกาสที่จะใช้จ่ายฟุ่มเฟือย” – มิรา ศรีพรหมมุนี Human Behaviour Analyst
แผนจัดเงินให้เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ คนกลุ่มนี้ชอบออกนอกบ้านเป็นพิเศษ ไม่ค่อยจับจ่ายกับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นเช่น ไม่ตุนอาหารที่บ้าน ไม่ค่อยเสียเงินกับเครื่องใช้ภายในบ้าน คนกลุ่มนี้จะมีค่าใช้จ่ายทางสังคมสูงทำให้มีสัดส่วนในค่าใช้จ่ายด้านสันทนาการมากกว่าคนกลุ่มอื่น ควรระวังเรื่องการใช้จ่ายเกินตัวมากกว่าคนกลุ่มอื่น
“คนกลุ่มนี้หากมีคะแนนด้านความมีจิตสำนึก (Conscientiousness) สูงร่วมด้วย จะมีแนวโน้มในการศึกษาเรื่องการลงทุน และกล้าที่จะลงทุน มีแนวโน้มลงทุนในระดับความเสี่ยงสูงได้ มีความกระตือรือร้นในการลงทุนเป็นพิเศษ แต่ก็ต้องจัดการความเสี่ยงมากกว่าคนกลุ่มอื่นด้วย ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ จึงยังเป็นเรื่องที่จำเป็นเช่นกันสำหรับคนกลุ่มนี้” – คุณากร มหานิล, CFA
ตัวอย่างสัดส่วนค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมสำหรับคนกลุ่มนี้:
ค่าใช้จ่าย | สัดส่วนจากรายได้ |
ค่าใช้จ่ายจำเป็น | 30% |
หนี้ | 15% |
สันทนาการ | 30% |
ค่าใช้จ่ายป้องกันความเสี่ยง | 10% |
เงินออมและลงทุน | 15% |
4. ความเป็นมิตร (Agreeableness)
ลักษณะนิสัยนี้ แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มในการเชื่อใจ เห็นใจ และให้ความร่วมมือกับผู้อื่น ทำให้เป็นคนที่มีมนุษย์สัมพันธ์ดี เห็นอกเห็นใจผู้อื่น และเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น แนวโน้มเหล่านี้ทำให้มักเชื่อใจคนอื่นได้ง่าย ชอบความสงบเรียบง่าย ไม่ชอบการแข่งขัน
“ในทางการเงิน เพราะคนกลุ่มนี้เห็นอกเห็นใจผู้อื่นอยู่เสมอ ทำให้ชอบช่วยเหลือคน และมีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายไปกับการกุศล หรือการใช้จ่ายเพื่อสังคม และคนอื่นมากเป็นพิเศษ หากคนกลุ่มนี้มีคะแนนความมีจิตสำนึก (Conscientiousness) ต่ำ มีโอกาสที่จะเสียเงินให้กับการกุศลมากเกินไป นอกจากนี้โอกาสใช้จ่ายฟุ่มเฟือยน้อย เพราะชอบใช้ชีวิตที่เรียบง่าย” – มิรา ศรีพรหมมุนี Human Behaviour Analyst
แผนจัดเงินให้เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ คนกลุ่มนี้ใช้ชีวิตเรียบง่ายไม่ฟุ่มเฟือย ทำให้มักซื้อแต่ของใช้ที่จำเป็น มีความสุขเมื่อได้บริจาคหรือให้ผู้อื่น ทำให้มีโอกาสใช้จ่ายเพื่อสังคมจนลืมเก็บออมเพื่อตัวเอง
“คนกลุ่มนี้ควรแบ่งสัดส่วนเงินบริจาคเพื่อการกุศลให้เหมาะสมกับรายได้ ควรวางแผนการลงทุนให้ชัดเจนเพื่อสร้างความมั่นคงในอนาคตของตัวเองด้วย” – คุณากร มหานิล, CFA
ตัวอย่างสัดส่วนค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมสำหรับคนกลุ่มนี้:
ค่าใช้จ่าย | สัดส่วนจากรายได้ |
ค่าใช้จ่ายจำเป็น | 40% |
หนี้ | 15% |
สันทนาการ | 15% |
ค่าใช้จ่ายป้องกันความเสี่ยง | 5% |
เงินออมและลงทุน | 20% |
ค่าใช้จ่ายเพื่อสังคม/ผู้อื่น | 5% |
5. ความอ่อนไหวทางอารมณ์ (Neuroticism)
ลักษณะนิสัยนี้ แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการเกิดอารมณ์ทางลบ และความสามารถในการปรับตัวทางอารมณ์ ค่อนข้างอ่อนไหวต่ออารมณ์ทางลบ เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า โกรธ มีโอกาสที่จะเป็นคนเครียดง่าย จึงมีความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ ก่อนจะทำอะไรจะคิดเยอะ เพราะกังวลว่าจะเกิดเหตุไม่ดีเกิดขึ้น
“ในทางการเงิน คนกลุ่มนี้เป็นคนคิดเยอะ กังวลง่ายจึงให้ความสำคัญกับความเสี่ยงมากเป็นพิเศษ จึงมีแนวโน้มให้ความสำคัญกับการทำประกันชีวิตและสุขภาพมากกว่าคนกลุ่มอื่นๆ มักใช้จ่ายกับสิ่งเดิมๆ เรื่องเดิมๆ เพราะมองว่าปลอดภัย ชอบดูแลตัวเองและความสวยความงาม จึงยอมเสียเงินไปกับเรื่องนี้มากที่สุด เพราะต้องการสร้างความมั่นใจให้กับตัวเอง” – มิรา ศรีพรหมมุนี Human Behaviour Analyst
แผนจัดเงินให้เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ คนกลุ่มนี้มีความกังวลมากกว่าคนอื่น มีโอกาสที่จะใช้จ่ายไปกับของใช้จำเป็นมากกว่าคนกลุ่มอื่น เพราะต้องการกักตุนของเผื่อเหตุการฉุกเฉิน ความไม่มั่นใจในตัวเองมากนักทำให้ไม่ค่อยเข้าสังคม ค่าใช้จ่ายด้านสันทนาการจะน้อยกว่ากลุ่มอื่น กังวลเรื่องในอนาคตทำให้คนกลุ่มนี้ก็มีแนวโน้มในการออมเงินมากกว่าคนอื่นด้วย
“หากคนกลุ่มนี้มีคะแนนด้านความมีจิตสำนึก (Conscientiousness) สูง จะต้องศึกษาให้เข้าใจถ่องแท้ก่อนจะใช้เงินหรือลงทุน หากลงทุนอาจจะเหมาะสมกับสินทรัพย์ที่ไม่เสี่ยงมากเกินไปอาจต้องลองเปิดใจเพื่อปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ มีแนวโน้มในการทำประกันประเภทต่างๆ อยู่แล้วเพราะเป็นคนระมัดระวัง และพยายามหลีกเลี่ยงความเสี่ยงอยู่เสมอ” – คุณากร มหานิล, CFA
ตัวอย่างสัดส่วนค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมสำหรับคนกลุ่มนี้:
ค่าใช้จ่าย | สัดส่วนจากรายได้ |
ค่าใช้จ่ายจำเป็น | 50% |
หนี้ | 15% |
สันทนาการ | 10% |
ค่าใช้จ่ายป้องกันความเสี่ยง | 5% |
เงินออมและลงทุน | 20% |
การเรียนรู้ว่าตัวเองมีลักษณะนิสัยอย่างไร เข้าใจไลฟ์สไตล์ของตัวเอง รู้จุดเด่น จุดด้อยของตัวเอง ทำให้คุณรู้ว่า คุณมีแนวโน้มในการใช้จ่ายอย่างไร และมีแนวโน้มจะเสียเงินไปกับเรื่องอะไรมากที่สุด รวมไปถึงเข้าใจถึงระดับความเสี่ยงที่ตัวเองรับได้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากที่ควรรู้ ก่อนวางแผนการเงินหรือการลงทุนได้อย่างถูกต้อง
เราหวังว่าบทความ จัดเงินให้งอกเงยให้เข้ากับ 5 ไลฟ์สไตล์ ด้วยศาสตร์ Personality Traits นี้จะช่วยทำให้คนได้เห็นถึงอีกวิธีการในการเลือกแผนการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวเอง
แต่เมื่อเลือกได้แล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เริ่มต้นทำให้แผนนั้นเป็นจริง เพื่อเป้าหมายทางการเงินในฝันที่คุณวาดไว้
หากคุณอ่านบทความนี้แล้วถูกใจ สามารถกรอกอีเมลของคุณเพื่อรับข่าวสาร และบทความใหม่ๆ ได้ที่นี่
ลงทะเบียนรับความรู้การลงทุน passive
รับความรู้การลงทุน passive ฟรี เพื่อเริ่มลงทุนอย่างสบายใจ กำไรอย่างยั่งยืน
- Big 5 Personality Factors – บุคลิกภาพ 5 องค์ประกอบ https://www.psy.chula.ac.th/th/feature-articles/big-5-personality-factors
- The Defining Personality Traits Of (Successful) Financial Planners https://www.kitces.com/blog/the-defining-personality-traits-of-successful-financial-planners/
- Personality and retirement: Exploring the links between the Big Five personality traits, reasons for retirement and the experience of being retired https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S0191886910000322