ไฮไลท์
1. การเติบโตของธุรกิจเทคโนโลยีเพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น โดยหุ้นเทคโนโลยีเริ่มออกทะยานในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทำผลตอบแทนสูงสุดเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ใน S&P500 นอกจากนี้ 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทเทคโนโลยียังครองสัดส่วนสูงสุดในการจัดอันดับ “100 บริษัทที่เติบโตเร็วที่สุด” โดยนิตยสาร Fortune อีกด้วย อนาคตของธุรกิจเทคโนโลยี จึงมีแนวโน้มเป็นเส้นเฉียงขึ้นไปอีกยาวๆ
2. ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจเทคโนโลยีเติบโตได้อย่างมีคุณภาพในระยะยาว ได้แก่ แนวคิดการประเมินมูลค่าหุ้นเทคโนโลยีที่พัฒนามาจากยุคดอทคอม โครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีที่แข็งแกร่ง และสถานการณ์ Covid-19 ที่เป็นตัวผลักดันให้คนหันมาพึ่งพาเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น
3. Cloud computing คือปัจจัยพื้นฐานสำคัญของธุรกิจเทคโนโลยีในปัจจุบัน เพราะช่วยให้ธุรกิจเทคโนโลยีสามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณค่าออกมาให้คนใช้งานได้ง่ายสะดวกมากขึ้น และขยายฐานลูกค้าออกไปได้เรื่อยๆ ด้วยต้นทุนที่ต่ำ ตราบใดที่คนยังใช้อินเทอร์เน็ต ธุรกิจเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ cloud computing ก็มีแนวโน้มจะคงอยู่และเติบโตต่อไป
4. ธุรกิจเทคโนโลยีขยายฐานลูกค้าได้อย่างรวดเร็วในช่วง Covid-19 เพราะคนต้องหันมาพึ่งพาเทคโนโลยีในการใช้ชีวิตมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ธุรกิจเทคโนโลยีก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ฉวยโอกาสช่วงนี้กระชับความสัมพันธ์กับลูกค้า คิดค้นผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ออกมาเพื่อให้คน “ติด” และใช้บริการต่อไปแม้จะหมดภัย Covid-19 แล้ว
5. ชีวิต new normal หลังจากนี้ ดูจะเป็นชีวิตที่คนคุ้นชินกับการใช้เทคโนโลยีในทุกลมหายใจ จนไม่สามารถตัดขาดได้ และน่าจะส่งผลให้ธุรกิจเทคโนโลยีที่มีผลิตภัณฑ์ที่ดี ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า สามารถขยายธุรกิจต่อไปได้เรื่อยๆ อย่างยั่งยืน
คำถามก็คือ หลังวิกฤติโควิด 19 แล้ว ใครจะเข้ามาอยู่ในบัญชีรายชื่อเศรษฐีใหม่ของไทย ถ้าดูจากวิวัฒนาการในช่วงเร็วๆ นี้ ในเศรษฐกิจหรือตลาดของอเมริกานั้น ดูเหมือนจะ “ฟันธง” ได้เลยว่าคงเป็นบริษัทและเจ้าของที่ทำธุรกิจดิจิตอลหรือไฮเท็คทั้งหลาย เพราะแม้ในขณะนี้ที่หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ส่วนใหญ่ตกกันหลายสิบเปอร์เซ็นต์ แต่หุ้นอย่างอะมาซอนและเน็ตฟลิกกลับปรับตัวขึ้นเป็น “All Time High” ตลาดรับรู้แล้วว่าหลังจากโควิด 19 โลกก็จะยังอยู่ เศรษฐกิจก็จะยังเติบโตต่อไป แต่คนที่จะยิ่งใหญ่เป็นผู้ให้บริการแก่คนทั้งโลกมากขึ้นไปอีกก็คือบริษัทเหล่านี้
- ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร จากบทความ 20 มหาเศรษฐีหลังโควิด 19 กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 28 เมษายน 2563
คงไม่มีใครปฏิเสธ ว่าหุ้นเทคโนโลยีคือหุ้นแห่งอนาคต
และเมื่อนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จอย่าง ดร. นิเวศน์ กล้า “ฟันธง” กลายๆ ว่าธุรกิจเทคโนโลยีคือธุรกิจที่จะครองโลก สร้างเศรษฐีใหม่ๆ อีกมายมาย…
นักลงทุนทั่วไปอย่างเรา ไม่มีหุ้นเทคโนโลยีเก็บไว้สักหน่อย ก็อาจต้องนั่งหงอยในภายหลัง
ติดปัญหาก็คือ…ประเทศไทยไม่มีหุ้นเทคโนโลยีให้เลือกมากเท่าไหร่
หุ้นที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรม .TECH ในประเทศไทย ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และ ICT ซึ่งเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ แต่ยังถือว่าห่างไกลจากภาพ “หุ้นเทค” แห่งอนาคตที่คนมักจะนึกถึง อย่าง Facebook Apple Amazon Netflix และ Google (FAANG) ในสหรัฐอเมริกา หรือสามทหารเสือ BAT จากจีน อย่าง Baidu Alibaba และ Tencent
ครั้นจะก้าวขาออกไปลงทุนหุ้นเทคในต่างประเทศก็ยังลังเล เพราะนอกจากจะมีเรื่องค่าธรรมเนียม อัตราแลกเปลี่ยน และกฎเกณฑ์ภาษีต่างๆ ที่ไม่คุ้นเคยแล้ว ยังมีข่าวการปรับตัวขึ้นแบบทุบสถิติของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี สวนทิศทางเศรษฐกิจโดยสิ้นเชิง
แทบจะเรียกได้ว่า ยิ่งเคส Covid-19 ในสหรัฐฯ สูงขึ้นเท่าไหร่ ดัชนี Nasdaq ยิ่งพุ่งสูงขึ้นเท่านั้น!
ในขณะที่อัตราการจ้างงาน และคาดการณ์ GDP ของสหรัฐฯ ลดลงเพราะการแพร่ระบาดของ Covid-19 หุ้นเทคโนโลยีหลายๆ ตัวกลับทำ all-time high ปรับตัวขึ้นเป็น 100% ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา แถมยังมีหุ้นทำสถิติปรับตัวขึ้นสูงถึง 40% ในวันเดียว
ซึ่งบางคนเห็น ก็บอกว่าเป็นแค่กระแส เป็นฟองสบู่ ซ้ำรอยประวัติศาสตร์สมัยดอทคอม
แต่ในความเป็นจริงแล้ว การเติบโตของหุ้นเทคโนโลยีปัจจุบันนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานที่แข็งแกร่งมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานอย่างเครือข่ายอินเทอร์เน็ตท่ีเร็วและครอบคลุมทั่วโลก ประสิทธิภาพของฮาร์ดแวร์สมัยใหม่ที่ประมวลผลและเก็บข้อมูลได้ดีกว่าเดิม และความแพร่หลายของเทคโนโลยีที่เป็นปัจจัย 5 ของชีวิต
ยิ่งเกิดการแพร่ระบาดของ Covid-19 ยิ่งบีบให้คนพึ่งพาเทคโนโลยีหนักขึ้นอีก เพราะชีวิตวิถีใหม่ที่ต้องเว้นระยะห่างทางสังคม เราไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากทำกิจกรรมส่วนใหญ่ที่บ้าน เลยต้องหันไปหาเทคโนโลยีต่างๆ นานามาช่วย
ไหนจะต้องสั่งผักผลไม้ สั่งอาหารมาทาน
ไหนจะต้องทำงาน ประสานงาน ประชุมผ่าน video conference
ไหนจะต้องออกกำลังกาย รักษาภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง
ทั้งหมดนี้ต้องพึ่งธุรกิจเทคโนโลยีทั้งนั้น ผลักดันรายได้ของหุ้นเทคโนโลยีให้เติบโต และราคาหุ้นพุ่งสูงสวนทางอุตสาหกรรมอื่นๆ
จึงไม่น่าแปลกใจ ที่ดัชนี S&P500 ซึ่งรวบรวมหุ้นมูลค่าตามราคาตลาด (market cap) ใหญ่ๆ 500 ตัวในตลาด Nasdaq และ NYSE จะถูกถ่วงน้ำหนักด้วยหุ้นเทคโนโลยีไปแล้วถึง 25% ถือว่าเป็นสัดส่วนสูงที่สุดในรอบ 20 ปี จากการวิเคราะห์ของ Goldman Sachs เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา นำโดยหุ้นเทคโนโลยีใหญ่ๆ อย่าง Facebook Amazon Apple Microsoft เเละ Alphabet (Google)
โดย Apple Amazon และ Microsoft ต่างเป็นหุ้นแบบ mega-cap ที่มูลค่าตลาดหลักล้านล้านเหรียญ!
แม้แต่พอร์ตของวอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่ตอนแรกไม่ค่อยสนใจหุ้นเทคโนโลยีเท่าไหร่ ตอนนี้สัดส่วนหุ้นเทคโนโลยีก็เริ่มแซงหน้าหุ้นการเงินไปแล้ว
และดูเหมือนว่า การแผ่อิทธิพลของหุ้นเทคโนโลยีเพิ่งจะมาเร่งตัวขึ้นใน 2-3 ปีที่ผ่านมา ผลตอบแทนเฉลี่ย 3 ปีของหุ้นเทคโนโลยีสูงสุดเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ บนดัชนี S&P500 ในขณะเดียวกัน การจัดอันดับ 100 บริษัทที่เติบโตเร็วที่สุด โดยนิตยสาร Fortune ซึ่งพิจารณาผลประกอบการ 3 ปีล่าสุด พบว่าบริษัทเทคโนโลยีติดอันดับเข้ามาเยอะที่สุดเป็นปีที่ 2
อนาคตของธุรกิจเทคโนโลยีหลังจากนี้ จึงมีแนวโน้มเป็นเส้นเฉียงขึ้นไปอีกยาวๆ โดยมีปัจจัยเกื้อหนุนสำคัญที่ช่วยดันหุ้นเทคโนโลยีขยายตัวอย่างมีคุณภาพ มั่นคง และยั่งยืน ดังนี้
- บทเรียนจากยุค 90 หรือยุคดอทคอม ที่ทำให้นักลงทุนประเมินมูลค่าหุ้นเทคโนโลยีบนรายได้และกำไรที่บริษัทสร้างได้ในปัจจุบันอย่างละเอียดรอบคอบยิ่งขึ้น
- โครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีที่มั่นคง แข็งแกร่ง และครอบคลุมทั่วโลก ธุรกิจสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ และขยายตัวได้ใหญ่เกินจินตนาการ
- ชีวิตคนเราที่ผูกพันกับเทคโนโลยีมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะหลังการแพร่ระบาดของ Covid-19 ที่บีบให้ทุกคนปรับตัวมาใช้เทคโนโลยีที่ไม่เคยนึกถึงมาก่อน จนกลายเป็นชีวิตวิถีใหม่แบบ new normal
ยุคดอทคอม บทเรียนของการประเมินมูลค่าธุรกิจเทคโนโลยี
ยุคดอทคอม หรือยุค 90 เป็นยุคที่อินเทอร์เน็ตเพิ่งเริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน โครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการทำธุรกิจออนไลน์ยังไม่สมบูรณ์ คนก็ยังไม่คุ้นเคยกับอินเทอร์เน็ตเหมือนทุกวันนี้ เพราะมีคนเพียงส่วนน้อยที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ หลักๆ ก็แค่ส่งอีเมล ไม่ได้ทำอะไรซับซ้อนมากมาย
ธุรกิจดอทคอมในสมัยนั้น จึงเป็นธุรกิจแบบ e-commerce หรือเว็บขายของเสียส่วนใหญ่ ผุดขึ้นมาแข่งขันกันอย่างดุเดือด แย่งฐานลูกค้าที่ค่อนข้างแคบ เพราะจำนวนคนที่ซื้อของผ่านอินเทอร์เน็ตมีจำกัด กลายเป็นอุปทานมากกว่าอุปสงค์ ธุรกิจหาทางขยายตลาด ทำกำไรได้ยาก
ถึงกระนั้น เงินจำนวนมหาศาลก็ยังหลั่งไหลเข้าธุรกิจดอทคอม เพราะทุกคนกำลังตื่นเต้นกับเทคโนโลยีใหม่ เชื่อว่าเป็นธุรกิจดอทคอมจะ “เปลี่ยนโลก”
นักลงทุนแย่งจับจองหุ้นธุรกิจดอทคอมกันแบบหน้ามืดตามัว ขอแค่ธุรกิจฟังดูดี มี .com อยู่ในชื่อ ก็พร้อมจะเคาะซื้อ ขนาดหุ้น IPO ใหม่ ราคายังพุ่งขึ้น 3-4 เท่าภายในวันแรกวันเดียว จนทำให้ดัชนี Nasdaq พุ่งขึ้น 5 เท่าภายในเวลาเพียง 5 ปี บางปีเติบโตถึง 125%
ในขณะเดียวกัน เหล่า venture capitalist ก็โปรยเงินให้ธุรกิจสตาร์ทอัพอินเทอร์เน็ตเป็นว่าเล่น ไม่สนใจว่าธุรกิจเหล่านั้นจะทำกำไรหรือไม่ ขอแค่เข้าตลาดหลักทรัพย์ ทำกำไรให้ VC ได้เป็นกอบเป็นกำก็พอ
ส่วนเหล่าสตาร์ทอัพ พอเห็นบริษัทรุ่นพี่ IPO วันแรกทำกำไรเป็น 100% ก็ยิ่งพยายามทุกวิธีทางที่จะเข้าตลาดให้เร็วที่สุด ถลุงเงินที่ได้มาไปกับการสร้างแบรนด์และทำการตลาด แทนที่จะนำไปพัฒนานวัตกรรมที่จะสร้างความสามารถในการแข่งขันให้ธุรกิจอย่างยั่งยืน
จึงไม่แปลก ที่หุ้นดอทคอมส่วนใหญ่ไม่มีกำไร บางแห่งไม่มีรายได้ และบางแห่งไม่มีแม้แต่ผลิตภัณฑ์ที่เสร็จสมบูรณ์ด้วยซ้ำ
แต่เพราะการประเมินมูลค่าธุรกิจหรือ valuation ในตอนนั้น พิจารณารายได้และกำไรที่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันไกล บนศรัทธาที่ว่าธุรกิจจะประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ได้เป็นหลัก ทำให้มูลค่าของหุ้นดอทคอมสูงลิ่วประหนึ่งเป็น Apple หรือ Amazon ปัจจุบัน เกิดปรากฏการณ์ panic buy นักลงทุนรีบซื้อด้วยความตื่นตระหนก เพราะกลัวพลาดโอกาส
นั่นทำให้ยุคดอทคอมเป็น “ฟองสบู่” ที่แตกโพละในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2543
ดัชนี Nasdaq ดิ่งเร็วและแรงถึง 34.2% ใน 1 เดือน แตะจุดต่ำสุดที่ 1,114.11 จุด และสูญเสียมูลค่าไปเกือบ 80%
ส่วนธุรกิจดอทคอมที่เคยซื้อขายกันคล่องมือในตลาดนั้น ส่วนใหญ่ก็ล้มหายตายจากไป เหลือไว้เพียงไม่กี่บริษัทให้เราได้เชยชมกันทุกวันนี้ หนึ่งในนั้นคือ Amazon นั่นเอง
แต่หุ้นเทคโนโลยีวันนี้ไม่เหมือนกับหุ้นดอทคอมที่ผ่านมา
หุ้นเทคโนโลยีในวันนี้ โดยรวมมีโมเดลธุรกิจที่สามารถขยายได้เรื่อยๆ ในขณะที่ต้นทุนไม่ต้องเพิ่มมาก ทำให้รายได้เติบโตก้าวกระโดดในแบบที่อุตสาหกรรมอื่นทำไม่ได้ โดยหุ้นเทคโนโลยีมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ประมาณ 40-80% ในขณะที่อุตสาหกรรมอื่นๆ เติบโตเพียง 1-9%
นักลงทุนตระหนักดีว่า ธุรกิจที่การเติบโตสูงอย่างธุรกิจเทคโนโลยีนั้น การประเมินมูลค่าของหุ้นต่างจากการประเมินมูลค่ากลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ แน่นอน
อย่างไรก็ตาม บทเรียนที่ได้รับจากฟองสบู่ดอทคอมในวันนั้น สอนให้นักลงทุนระมัดระวังว่า อย่างไรก็ต้องประเมินมูลค่าหุ้นเทคโนโลยีบนพื้นฐานรายได้ที่บริษัทสร้างได้ในปัจจุบันเป็นหลัก
กลายเป็นที่มาของการวิเคราะห์มูลค่าหุ้นเทคโนโลยีแบบเฉพาะตัว โดยคำนึงธรรมชาติของหุ้นเทคโนโลยีที่มีหนี้สินน้อย เงินสดเยอะ และใช้รายได้มาต่อยอดขยายฐานลูกค้าให้รายได้หลักของบริษัทเติบโต
ถ้าคำนวณอัตราส่วนยอดขาย/ราคาหุ้น (price/sale) แบบปกติ จะทำให้บริษัทดูราคาเเพงจนเกินไป นักวิเคราะห์หลายคนจึงนิยมใช้ มูลค่าสุทธิของกิจการ (enterprise value หรือ EV)/รายได้ในอีก 12 เดือนข้างหน้า แทน
ซึ่งวิธีการประเมินมูลค่าที่เหมาะสมสำหรับหุ้นเทคโนโลยีนั้น สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในบทความ “หุ้น Tech ต่างประเทศ เลือกแบบวีไอ อย่างไรให้โดน”
ดังนั้น มูลค่าของหุ้นเทคโนโลยีที่บางครั้งดูเหมือนประเมินออกมาสูงเกินไป จริงๆ แล้วอาจจะไม่ได้เกินความเป็นจริง และราคาของหุ้นที่พุ่งขึ้นสูง ก็สอดคล้องกับรายได้และกำไรที่เพิ่มขึ้นของหุ้นเทคโนโลยีหลายๆ ตัวเช่นกัน
เห็นได้ชัดว่า หุ้นเทคโนโลยีในปัจจุบันนั้น โมเดลธุรกิจแข็งแกร่ง มีอนาคต และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมูลค่าบริษัทไปได้อีกเยอะมากๆ ในระยะยาว
โครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ขับเคลื่อนโดย Cloud Computing
อีกสิ่งหนึ่งที่ยุคดอทคอมได้ทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลัง คือโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับการพัฒนาต่อยอด จนทำให้ธุรกิจเทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถขยายตัวได้อย่างมั่นคง
ไม่ว่าจะเป็นความสามารถของฮาร์ดแวร์ในการเก็บและประมวลผลข้อมูล ที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากกว่าสมัยก่อนหลายเท่า
ไปจนถึงอินเทอร์เน็ตที่เคยเข้าถึงยาก ช้า เชื่อมต่อคนเพียงไม่กี่กลุ่ม ตอนนี้เชื่อมต่อคนได้ทั่วโลก ผ่านเครือข่ายใยแก้วนำแสง (fiber optic) ความเร็วสูง
สิ่งเหล่านี้คือรากฐานสำคัญ ที่ช่วยให้ธุรกิจเทคโนโลยีปัจจุบันสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ มาเป็นจุดขาย เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้เป็นอย่างดี
ซึ่งนวัตกรรมหนึ่งที่กำลังมาแรง เรียกได้ว่าเป็นหัวใจของธุรกิจเทคโนโลยีแทบจะทุกแห่ง และเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันเราทุกคนโดยที่เราไม่รู้ตัว ก็คือ cloud computing
Cloud Computing ครองโลก
คุณน่าจะเคยได้ยินคนพูดถึงระบบ cloud ผ่านหูมาบ้างแล้ว
นั่นก็เพราะ cloud computing เป็นพื้นฐานของหลายๆ เทคโนโลยีที่คุณใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น การสั่งอาหารมาส่งที่บ้าน การประชุมผ่าน video conference หรือแม้กระทั่งการดูหนังบน Netflix
ทุกอย่างเกิดขึ้นบนระบบ cloud
ระบบ cloud เป็น disruptive technology ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงการให้บริการและการใช้งานเทคโนโลยีแบบหน้ามือเป็นหลังมือ กล่าวคือ บริษัทเทคโนโลยีมีที่เก็บข้อมูลและสามารถประมวลผลข้อมูลได้รวดเร็ว เพราะแทนที่จะพึ่งเซิร์ฟเวอร์แห่งเดียว บริษัทเทคโนโลยีสามารถดึงเอาพลังของเซิร์ฟเวอร์หลายๆ แห่งที่กระจายอยู่ทั่วโลกออกมาใช้ได้เต็มที่ แล้วก็ให้บริการลูกค้าผ่านอินเทอร์เน็ต ลูกค้าจะเข้าใช้บริการเมื่อไหร่ก็ได้ จากที่ไหนก็ได้ ผ่านอุปกรณ์อะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือ ชีวิตสะดวกสบายยิ่งขึ้น
เมื่อก่อนการใช้โปรแกรมต่างๆ ผ่าน cloud ค่อนข้างลำบาก เพราะกว่าจะเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเข้าไปใช้งานค่อนข้างยุ่งยากและช้า แต่ตอนนี้สัญญาณอินเทอร์เน็ตของโลกพัฒนาถึงขั้น 4G หรือ 5G กันแล้ว ทำให้สมรรถนะในการประมวลผลและส่งข้อมูลรวดเร็วมาก เร็วขนาดที่คุณสามารถ stream ไฟล์หนังที่อยู่ไหนก็ไม่รู้ มาดูบนมือถือได้แบบไม่กระตุก
ซึ่งเบื้องหลังของความสะดวกสบายนี้ ก็คือ ศูนย์จัดเก็บข้อมูล หรือ data center ขนาดใหญ่ บางแห่งรวมๆ แล้วมีเซิร์ฟเวอร์ขนาดใหญ่มาก ใหญ่เท่าสนามฟุตบอลหลายๆ สนามต่อกันเลยทีเดียว โดยผู้ให้บริการ data center ที่โดดเด่น ก็เป็นบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก อย่าง Amazon Web Service (AWS) Google Cloud Platform และ Microsoft Azure
นอกจากบริการ data center แล้ว ยังมีบริการ cloud platform อื่นๆ มาเสริมอีกด้วย เช่น บริการด้านการประมวลผล AI และ machine learning และบริการด้านความปลอดภัย
อีกสาเหตุที่ cloud ไม่ค่อยได้รับความนิยมก่อนหน้านี้ ก็เพราะคนกังวลเรื่องความปลอดภัย และการรั่วไหลของข้อมูล แต่เดี๋ยวนี้หลายองค์กรตระหนักแล้วว่า การใช้บริการ cloud ที่มีทีมงานจำนวนมากทุ่มเทพัฒนาระบบโดยเฉพาะ มีความปลอดภัยมากกว่าการติดตั้งเซิร์ฟเวอร์ในบริษัทเสียอีก ทั้งยังประหยัด ไม่ต้องมีทีมงานคอยจัดการ แนวโน้มการใช้งาน cloud ในองค์กรจึงสูงขึ้นเรื่อยๆ
การให้บริการผ่านระบบ cloud นั้น ต้นทุนถูกกว่าการลงทุนสร้างเซิร์ฟเวอร์ของตนเอง เนื่องจากไม่ต้องลงทุนซื้อฮาร์ดแวร์ พัฒนาระบบ และซ่อมบำรุง แถมสมรรถนะในการประมวลผลข้อมูลของ cloud ยังแรงกว่า นั่นหมายความว่า ธุรกิจที่ใช้ cloud สามารถขยายตัวได้ง่ายกว่าและรวดเร็วกว่า เพราะจ่ายเงินให้บริการเท่าที่ต้องการใช้งานเท่านั้น (pay on demand) และเมื่อต้องการขยายธุรกิจก็ทำได้เลย ไม่ต้องเตรียมอะไร มีระบบ cloud รองรับเรียบร้อยแล้ว
เช่น Jitta.com มีชุดข้อมูลที่ต้องประมวลผลหลักพันล้านหน่วยต่อวัน หากลงทุนซื้อชุดเซิร์ฟเวอร์ประมวลผลของตัวเองเพื่อให้คำนวณให้เสร็จภายใน 1 ชั่วโมง อาจจะต้องใช้เครื่องถึง 1,000 เครื่อง หากจะประมวลผลเพิ่มเป็น 2 พันล้านหน่วย ก็ต้องไปซื้อเครื่องมาเพิ่มอีก 1,000 เครื่อง
แต่เมื่อเราใช้ cloud ก็เหมือนเราเสกเครื่อง 1,000 เครื่องมาใช้ได้ทันที ประหยัดเวลา ประหยัดต้นทุนในการทำธุรกิจไปได้เยอะมาก
นี่จึงเป็นสาเหตุว่าทำไม ธุรกิจผู้ให้บริการ cloud (Infrastructure as a Service หรือ IaaS) อย่าง Amazon Google และ Microsoft จึงเฟื่องฟู ทำกำไรได้มหาศาล เพราะลงทุนสร้าง data center เสร็จแล้วก็เหมือนเสือนอนกิน รับรายได้ค่าเช่าเซิร์ฟเวอร์ไปเรื่อยๆ
ในขณะเดียวกัน ธุรกิจที่ใช้บริการ cloud (Software as a Service หรือ SaaS และ Platform as a Service หรือ PaaS) อย่าง Grab Lazada และ Netflix ก็อาศัยประโยชน์จากต้นทุนที่ต่ำลง ความเร็วของการประมวลผลข้อมูลที่สูงขึ้น และความสะดวกสบายในการขยายธุรกิจ มาสร้างผลิตภัณฑ์และบริการที่คน “ติด” จนต้องใช้ไปเรื่อยๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ดังนั้น ตราบใดที่เราใช้งานอินเตอร์เน็ตเหมือนเป็นปัจจัยที่ 5 ของชีวิตอย่างนี้ ธุรกิจเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ cloud computing ก็มีแนวโน้มจะคงอยู่ต่อไป
เทคโนโลยี จากของนอกกาย สู่ปัจจัย 5 ของชีวิต
อีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ธุรกิจเทคโนโลยีออกตัวได้แรงในยุคนี้ ก็เพราะการเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ตที่ง่ายขึ้น ราคาถูกลง และครอบคลุมทั่วทั้งโลก
เห็นได้ชัดเจนจากจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจำนวนคนใช้อินเทอร์เน็ตในปัจจุบันนั้น เมื่อเทียบกับ 20 ปีที่แล้วในยุคดอทคอมนั้น แทบจะคนละโลกเลยทีเดียว
นั่นก็หมายความว่า ปัญหาอุปทานมากกว่าอุปสงค์ที่พบในธุรกิจดอทคอมนั้น แทบจะไม่ใช่ปัญหาเลยสำหรับธุรกิจเทคโนโลยีในปัจจุบัน ตราบใดที่ธุรกิจสามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีคุณค่า ตอบโจทย์คนใช้งานได้จริง ตลาดยังเปิดกว้างพร้อมให้ธุรกิจเข้าแย่งชิงส่วนแบ่ง
และไม่ใช่ส่วนแบ่งตลาดภายในประเทศเท่านั้นที่เป็นเป้าหมายของธุรกิจเทคโนโลยีเหล่านี้ แต่เป็นทั้งโลก!
เครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่ครอบคลุมทั่วโลก และการเข้าถึงข้อมูลที่สะดวกมากขึ้นผ่านโทรศัพท์มือถือ ได้ทลายพรมแดนการทำธุรกิจไปโดยสิ้นเชิง ธุรกิจเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน สามารถฝันไกลถึงการพิชิตหัวใจคนทั้งโลกได้เลย
ขนาดของตลาด และกลุ่มคนที่จะมาเป็นลูกค้าในอนาคตนั้นใหญ่มาก ธุรกิจเทคโนโลยีไหนสามารถช่วงชิงส่วนแบ่งมาได้แค่ 1% ก็ถือเป็นรายได้ที่เยอะมากแล้ว
ไม่น่าแปลกใจว่าทำไมบริษัทอย่าง Apple Amazon Google และ Microsoft ที่มีฐานลูกค้าอยู่ทั่วโลก จึงมีมูลค่าเป็นล้านล้านเหรียญ
Covid-19 บีบคนพึ่งพาเทคโนโลยีหนักขึ้น
ยิ่งไปกว่านั้น สถานการณ์ Covid-19 ยังเป็นตัวเร่งที่ทำให้คนพึ่งพาเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะพวกซอฟต์แวร์ที่ช่วยให้คุณสามารถทำกิจกรรมต่างๆ สำเร็จลุล่วงจากที่บ้านในยามกักตัว
ไม่ว่าจะเป็นการเรียนหนังสือ ทำงาน ทำอาหาร ออกกำลังกาย หรือร่วมงานสัมมนา
ซึ่งธุรกิจเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังซอฟต์แวร์ที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตแบบ new normal นี้ ก็คือหุ้นกลุ่ม Software as as Service (SaaS) ที่โตเฉลี่ยถึง 64% หลังเกิดวิกฤติ Covid-19 ถือเป็นการเติบโตที่สูงมากภายในระยะเวลาอันสั้น
กลายเป็นว่า Covid-19 กลับส่งผลดี ผลักดันคนเข้ามาใช้บริการธุรกิจเทคโนโลยีมากขึ้น ช่วยเพิ่มรายได้ให้ธุรกิจเทคโนโลยีในยามที่อุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะท่องเที่ยว รายได้แทบจะเป็นศูนย์
แน่นอนว่า ธุรกิจเทคโนโลยีก็รีบฉกฉวยโอกาสนี้ สร้างจุดขายให้คน “ติด” ผลิตภัณฑ์ของตนเอง และใช้งานต่อไปเรื่อยๆ แม้ว่าวันหนึ่งวิกฤต Covid-19 จะจบลง
เช่น Zoom ผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ video conference ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในขณะนี้ ล่าสุดได้ตั้งทีมใหม่ขึ้นมา ชื่อว่า Zoom from Home เพื่อพัฒนาฮาร์ดแวร์ อำนวยความสะดวกให้การประชุมออนไลน์ผ่าน video conference นั้นสะดวกสบายยิ่งขึ้น และกระชับสัมพันธ์กับกลุ่มลูกค้าที่ทำงานที่บ้าน หรือ work from home
เพราะ Zoom เชื่อว่า ยังไง WFH ก็จะยังคงอยู่ต่อไป ตามการสำรวจของ PwC ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ที่พบว่าพนักงานในสหรัฐฯประมาณ 80% อยากทำงานที่บ้านอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 วัน และผู้บริหารเกินครึ่งก็พร้อมจะให้พนักงานเลือกทำงานที่บ้านอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 วัน
เป็นไปได้ว่า ชีวิต new normal ของเรา จะไม่ใช่แค่การใส่ผ้าปิดจมูก เว้นระยะห่างทางสังคมเท่านั้น แต่เป็นชีวิตที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีในแทบจะทุกลมหายใจเลยทีเดียว
เทคโนโลยี ของต้องมีที่ขาดไม่ได้
ชีวิต new normal หลังจากนี้ ดูจะเป็นชีวิตที่คนคุ้นชินกับการใช้เทคโนโลยีในทุกลมหายใจ จนไม่สามารถตัดขาดได้
ซึ่งน่าจะส่งผลให้ธุรกิจเทคโนโลยีที่มีผลิตภัณฑ์ที่ดี ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า และมีการบริหารจัดการที่ดี สามารถขยายธุรกิจต่อไปได้เรื่อยๆ อย่างยั่งยืน
สำหรับนักลงทุนที่สนใจลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีเหล่านี้ ควรจะพิจารณาอะไรบ้าง เพื่อคัดสรรหาหุ้นเทคโนโลยีที่มีพื้นฐานแข็งแกร่ง น่าลงทุน สามารถติดตามได้ในบทความหน้า
หรือใน Jitta Live: ปั้นพอร์ตโตด้วยหุ้นเทค เมกะเทรนด์ขับเคลื่อนโลกในวันพุธที่ 22 กรกฎาคม เวลา 19:00 น.
ลงทะเบียนรับความรู้การลงทุน passive
รับความรู้การลงทุน passive ฟรี เพื่อเริ่มลงทุนอย่างสบายใจ กำไรอย่างยั่งยืน