Table of Content

บทนำ

‘หุ้นจีน’ ว่าที่ตลาดการเงินใหม่ของโลก

Piyachart Maikaew

5 min read

  • 22 NOV 2020
  • Table of Content

    บทนำ

    พลิกทุกความคาดหมาย เมื่อหุ้น IPO ที่นักลงทุนทั่วโลกรอคอย และว่ากันว่ามีมูลค่าสูงที่สุดในโลก ของ ANT Group ถูก ก.ล.ต. ของจีนสั่งระงับการซื้อขาย เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

    โดย China Securities Regulatory Commission หรือ ก.ล.ต. จีน บอกว่า ทางผู้บริหารของ ANT Group บริษัทฟินเทคที่มี Alibaba ถือหุ้นอยู่ 33% ได้รายงานการเปลี่ยนแปลงในประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับกฎเกณฑ์เทคโนโลยีทางการเงิน ส่งผลให้ทางก.ล.ต. จีนมองว่า ANT Group ยังไม่ผ่านเงื่อนไขสำหรับแผน IPO และกฎเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูล[1]

    เราคงต้องจับตาดูความเคลื่อนไหวของ ANT Group ต่อไป ว่าจะผลักดันแผนการ IPO ของตัวเองให้สามารถเข้าซื้อขายในเซี่ยงไฮ้และฮ่องกงได้หรือไม่

    แต่ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร การที่หุ้นจีนจะ IPO ด้วยมูลค่าที่สูงถึง 3.45 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นมูลค่าการ IPO ที่สูงแซงบริษัทน้ำมัน Saudi Aramco และ Alibaba และสูงที่สุดในโลกนี้ สะท้อนศักยภาพของ ‘หุ้นจีน’ ได้เป็นอย่างดี ในการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำตลาดการเงินของโลกในอนาคต

    ———

    ในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา จีนมีความพยายามอย่างมาก ในการที่จะก้าวขึ้นมาเป็น 1 ในมหาอำนาจของโลกในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นศูนย์กลางทางการเงินและอุตสาหกรรมการผลิต รวมทั้งมองการณ์ไกลไปถึงการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี ซึ่งจีนเองก็เชื่อมั่นในศักยภาพตัวเองมากเลยทีเดียว

    นั่นก็เพราะ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ (อันดับ 3 ของโลก) และจำนวนประชากร (อันดับ 1 ของโลก) ส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ที่สะท้อนภาพความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ ก็เป็นอันดับ 2 ของโลก เป็นรองแค่มหาอำนาจยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาเท่านั้น

    ปี 2563 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ประเมินว่า จีนมีมูลค่า GDP เท่ากับ 15.22 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ นี่ยังไม่รวมไต้หวัน มาเก๊า และฮ่องกง ส่วนสหรัฐอเมริกา ยังมีขนาด GDP มากที่สุดในโลก ที่ 20.81 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ[2]

    ความน่าสนใจของเศรษฐกิจจีน คือ IMF ยังมีมุมมองเชิงบวกต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจีน ในรายงาน ‘World Economic Outlook’ เดือนตุลาคม IMF คาดว่า ปี 2563 เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวที่ 1.9% และก้าวกระโดดเป็น 8.2% ในปี 2564 ท่ามกลางความเปราะบางของเศรษฐกิจโลก จากการแพร่ระบาด Covid-19 โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากที่สุดในโลก IMF คาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะติดลบ 4.3% ปีนี้ และปีหน้าจะฟื้นตัวเป็น 3.1% เท่านั้น[3]

    ทั้งๆ ที่ประเทศจีนคือ ต้นกำเนิดของการแพร่ระบาด Covid-19 แต่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว กลายเป็นว่า เศรษฐกิจจีนยังรักษาความแข็งแกร่ง สามารถเติบโตได้ ขณะที่ประเทศอื่นๆ ทั่วโลก แทบจะทุกข์ระทมกับเศรษฐกิจขาลง ไทยเราเองก็ไม่ได้รับการยกเว้น

    ด้วยเหตุผลเศรษฐกิจฟื้นตัวได้นี่เอง ‘หุ้นจีน’ จึงได้รับความสนใจและถูกพูดถึงจากนักลงทุนทั่วโลก หลังคลายล็อกดาวน์ ‘ตลาดหุ้นจีน’ ก็พลิกกลับมาเป็นบวก สะท้อนภาพเม็ดเงินจากทั่วโลกที่กำลังไหลเข้าในตลาดการเงินของจีน

    ทำความรู้จักกับ ‘ตลาดหุ้นจีน’

    นโยบายของทางการจีนผลักดันให้บริษัทรายใหม่ เข้าจดทะเบียนซื้อขายใน ‘ตลาดหุ้นจีน’ ซึ่งประกอบด้วยตลาดหลักทรัพย์ใหญ่ 2 แห่ง คือ เซี่ยงไฮ้ (Shanghai Stock Exchange: SSE) กับเซินเจิ้น (Shenzhen Stock Exchange: SZSE)

    มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด หรือที่เราเรียกกันสั้นๆ ว่า Market Cap ของ SSE และ SZSE สิ้นปี 2562 อยู่ที่ 4.026 และ 2.504 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐตามลำดับ และเป็นอันดับที่ 5 และ 9 ของโลก อ้างอิงจากรายงานของ World Federation of Exchanges[4]

    ด้วยความที่เป็นประเทศใหญ่ แม้จะมีสกุลเงินหลักคือ ‘หยวน’ แต่ไม่ได้มีแค่จีนแผ่นดินใหญ่เท่านั้น ยังมี ฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน ที่เปรียบเสมือนเขตการปกครองพิเศษ ต่างมีสกุลเงินเป็นของตัวเอง ดังนั้น ‘ตลาดหุ้นจีน’ จึงมีหุ้นหลายกลุ่ม ดัชนีอ้างอิงมากมาย และซื้อขายกันหลายสกุลเงินอีกด้วย

    A-Share

    ดัชนีของกลุ่มหุ้นบริษัทจดทะเบียนในมีฐานธุรกิจในจีนแผ่นดินใหญ่ โดยจะเป็นหลักทรัพย์ทั้งใน SSE และ SZSE มาคำนวณรวมกันแบบถ่วงน้ำหนัก สกุลเงินหลักที่ใช้ในการซื้อขายคือ หยวน ดังนั้น A-Share จึงถูกเรียกอีกชื่อคือ ‘Domestic Shares’

    สำหรับ A-Share นับว่าเป็นกลุ่มหุ้นบริษัทจดทะเบียนที่มีจำนวนหลักทรัพย์ และมี Market Cap ใหญ่ที่สุดในกลุ่มดัชนีทั้งหมดของตลาดหุ้นจีน ในอดีตจะอนุญาตให้นักลงทุนบุคคลหรือนิติบุคคลสัญชาติจีนซื้อขายได้เท่านั้น ต่อมาปี 2546 ก.ล.ต.จีนจึงมีเงื่อนไขให้นักลงทุนสถาบันต่างชาติเข้าลงทุนในดัชนี A-Share ได้ ภายใต้ระบบ Qualified Foreign Institutional Investor (QFII) รวมทั้งนักลงทุนรายย่อยต่างชาติที่ใบอนุญาตเฉพาะด้วย[5]

    หลักทรัพย์ใน A-Share ส่วนใหญ่จะอยู่ใน SSE Composite ดังนั้น เราสามารถการติดตามความเคลื่อนไหวจากดัชนีนี้ได้

    B-Share

    ดัชนีของหลักทรัพย์ที่คำนวณเหมือน A-Share แต่เปิดให้ซื้อขายสำหรับนักลงทุนต่างชาติ ที่สนใจเข้าลงทุนในหลักทรัพย์ของ SSE และ SZSE ซึ่งจะซื้อขายในสกุล ‘ดอลลาร์สหรัฐ’ สำหรับ SSE และ ‘ฮ่องกงดอลลาร์’ สำหรับ SZSE เนื่องจากในอดีต สกุลเงินหยวนยังไม่เป็นที่ยอมรับ ขณะเดียวกันนักลงทุนสัญชาติจีน จะไม่สามารถซื้อขาย B-Share เนื่องจากข้อจำกัดด้านซื้อขายเงินตราต่างประเทศ[6]

    แต่จำนวนหุ้นมีซื้อขายใน B-Share มีน้อยมาก ประกอบกับไม่ได้รับความนิยมจากนักลงทุนเท่า A-Share ดัชนีนี้ก็เลยไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในวงกว้าง

    H-Share

    ดัชนีของกลุ่มหุ้นบริษัทจดทะเบียนและจัดตั้งขึ้นในจีนแผ่นดินใหญ่ แต่มาจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง (SEHK) โดยซื้อขายกันเป็นเงินสกุล ‘ฮ่องกงดอลล่าร์’ มีชื่อเต็มคือ Hang Seng China Enterprise Index (HSCE)

    แต่ก็มีหุ้นบริษัทจดทะเบียนหลายตัวที่ซื้อขายทั้ง SEHK และเลือกจดทะเบียนซื้อขายใน SSE หรือ SZSE ด้วย เรียกว่า ‘A+H Companies’ แต่ราคาหุ้นจะไม่เท่ากัน[7]

    นอกจากนี้ หุ้นกลุ่ม H-Share ยังมีบริษัทนอมินีในฮ่องกงเป็นผู้ถือหุ้นด้วย ชื่อว่า HKSCC Nominees Limited ที่ Hong Kong Exchanges and Clearing เป็นเจ้าของ

    Red-Chip

    ดัชนีหุ้นกลุ่มบริษัทจดทะเบียนของจีนแผ่นดินใหญ่ แต่จัดตั้งบริษัทนอกประเทศจีน และจดทะเบียนซื้อขายใน SEHK โดยรัฐบาลจีนจะเป็นผู้ถือหุ้นด้วย ด้วยเหตุผลที่อยู่ใน SEHK ส่งผลให้หุ้น Red-Chip ต้องปฏิบัติตามกฎของก.ล.ต.ฮ่องกงด้วย ดังนั้น Red-Chip จึงมีความน่าสนใจในสายตานักลงทุนต่างชาติพอๆ กับ H-Share เพราะความเชื่อมั่นด้านมาตรฐานการทำรายงานการเงินของฮ่องกง ในฐานะเป็นศูนย์กลางของตลาดเงินตลาดทุนของโลก

    Red-Chip มีที่มาจาก China’s Red Flag เพื่อสื่อถึงว่า รัฐบาลจีนเป็นผู้ถือหุ้นในธุรกิจนั้นด้วย แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นธุรกิจขนาดใหญ่หรือเป็นที่รู้จักอย่างคำว่า ‘หุ้น Blue Chip’ ดังนั้นหุ้นกลุ่ม Red-Chip สามารถเป็นธุรกิจขนาดกลางหรือเล็กได้[8]

    ยกตัวอย่างบริษัทกลุ่ม Red-Chip ที่รู้จักกันคือ China Mobile จัดเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่สุดของกลุ่ม ด้วย Market Cap มากกว่า 1.2 ล้านล้านฮ่องกงดอลลาร์ ซึ่งก่อตั้งในฮ่องกงปี 2540 จึงนับว่าอยู่นอกจีนแผ่นดินใหญ่ ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ China Mobile คือ รัฐวิสาหกิจของจีน China Mobile Communications Group ถือหุ้น 72.72%

    P-Chip

    ดัชนีหุ้นกลุ่มนี้ มีแนวคิดเดียวกับ Red-Chip คือ จัดตั้งบริษัทนอกประเทศจีน และจดทะเบียนซื้อขายใน SEHK แต่เป็นบริษัทเอกชนของจีนแผ่นดินใหญ่ ไม่มีรัฐบาลจีนเป็นผู้ถือหุ้น ตัว P จึงเป็นที่มาของคำว่า ‘Private’ นั่นเอง[9]

    นอกจากนี้ หลังจากมีหุ้นกลุ่ม P-Chip ยังมี S-Chip ที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้นสิงคโปร์ และ N-Share ที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์ค หรือ Nasdaq รวมทั้งมี L-Share ที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้นลอนดอน

    ‘ตลาดหุ้นจีน’ หลังวิกฤต Covid-19

    เราได้พูดถึงความน่าสนใจของประเทศจีนคือ เศรษฐกิจในภาพรวมที่ฟื้นตัวได้เร็ว จากการควบคุมการแพร่ระบาดของ Covid-19 โดยตัวเลข GDP ของจีนในไตรมาสแรกหดตัวแรง 6.8% ในไตรมาสแรกของปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงมาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวด แต่ในไตรมาสที่ 2 GDP ของจีนพลิกกลับมาโต 3.2% ทันทีในไตรมาสที่ 2 ของปี[10]

    นั่นก็เพราะ ‘เศรษฐกิจจีน’ มีปัจจัยขับเคลื่อนหลัก ที่สะท้อนภาพของการฟื้นตัวหลัง Covid-19 ได้แก่

    1. ดัชนี Industrial Production ในเดือนกันยายนเพิ่มขึ้น 6.9% เมื่อเทียบกับปีก่อน และเป็นการเพิ่มขึ้น 6 เดือนติดต่อกัน หลังจากหดตัวแรงใน 3 เดือนแรกของปี 2563 สะท้อนภาพการฟื้นตัวในภาคอุตสาหกรรมของจีนอย่างต่อเรื่อง[11]
    2. ดัชนี General Manufacturing PMI ในเดือนตุลาคมเพิ่มขึ้นเป็น 53.6 เป็นตัวเลขที่แข็งแกร่งที่สุดในรอบกว่า 10 ปี ขณะที่เดือนกันยายนอยู่ที่ 53.0 ซึ่งสะท้อนว่า ภาคการผลิตของจีนที่ถูกขับเคลื่อนจากความต้องการสินค้าของประชาชนในประเทศ[12]

    ภาพความแข็งแกร่งของ ‘เศรษฐกิจจีน’ จากดัชนีชี้วัด 2 ตัวที่ถูกจัดว่า เป็นเครื่องยนต์สำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะต่อๆ ไป ท่ามกลางความแน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่ยังอยู่ในภาวะถดถอยจากวิกฤต Covid-19 ยังส่งผลเชิงบวกต่อ ‘ตลาดหุ้นจีน’ เช่นเดียวกัน

    วันที่ 13 ตุลาคม มีรายงานว่า Market Cap ของ ‘ตลาดหุ้นจีน’ รวมกันสูงถึง 10.04 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ มี Market Cap ใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐอเมริกาที่ 38.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

    Market Cap ของ ‘ตลาดหุ้นจีน’ เพิ่มขึ้นอีก 3.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากอยู่ในจุดต่ำสุดในเดือนมีนาคม จากนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลจีนที่กระตุ้นการซื้อขายหลักทรัพย์ใน SSE และ SZSE รวมทั้งสนับสนุนบริษัทจดทะเบียนรายใหม่ ผ่านการผ่อนคลายกฎเกณฑ์และเงื่อนไขต่างๆ[13]

    นอกจากนี้ รัฐบาลจีนเตรียมที่จะผลักดันเซินเจิ้นให้เป็น ‘ศูนย์กลางเทคโนโลยีของโลก’ เพื่อให้ทัดเทียมกับสหรัฐอเมริกาในอนาคต

    นี่คือข้อมูลภาพใหญ่ของเศรษฐกิจและตลาดหุ้นจีน ที่เรารวบรวมมา เพื่อให้เห็นความน่าสนใจของประเทศที่มีมูลค่าเศรษฐกิจและตลาดหุ้นเป็นอันดับ 2 ของโลก และกำลังหายใจรดต้นคอยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา จึงเป็นที่มาของเม็ดเงินมหาศาลจากทั่วโลกที่หลั่งไหลเข้าสู่ ‘ตลาดหุ้นจีน’ ในปัจจุบัน

    ———

    หากคุณมองว่าจีนเป็นอนาคตของการลงทุนระยะยาว และสนใจเก็บเกี่ยวผลตอบแทนที่ดีจากแนวโน้มการเติบโตของ ‘ตลาดหุ้นจีน’ ก็เริ่มลงทุนได้ไม่ยาก ผ่านกองทุนส่วนบุคคล Jitta Wealth Thematic ที่ให้คุณเลือกลงทุนธีม ‘ตลาดหุ้นจีน’ ผ่าน iShares MSCI China ETF (MCHI)

    ซึ่งการลงทุน ‘หุ้นจีน’ ผ่าน MCHI ถือเป็นการลงทุนใน ‘ตลาดหุ้นจีน’ ครอบคลุม 85% ของหุ้นทั้งหมดในตลาดจีน ไม่ว่าจะเป็นดัชนีกลุ่ม A-Share B-Share H-Share Red-Chip และ P-Chip รวมถึง US-ADR ซึ่งเป็นหุ้นจีนที่จดทะเบียนซื้อขายใน Nasdaq ด้วย

    และสิ่งที่ทำให้การลงทุนหุ้นจีนผ่าน Jitta Wealth Thematic เหนือกว่าการลงทุนไปลงทุนโดยตรงใน กองทุน ETF ด้วยตนเอง หรือลงผ่านกองทุนรวมทั่วไป คือ เริ่มต้นด้วยเงินลงทุนเพียง 100,000 บาท คุณสามารถจับคู่ลงทุนกับธีมอื่นๆ ได้สูงสุดถึง 5 ธีม ในพอร์ตลงทุนเดียวกัน เช่น หุ้นจีน หุ้นเทคโนโลยี หุ้นสุขภาพและการแพทย์ หุ้นฟินเทค หุ้นอีคอมเมิร์ซ เพื่อกระจายความเสี่ยง เพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนจากหลายๆ อุตสาหกรรมเมกะเทรนด์ และลดความผันผวนของพอร์ตด้วย

    สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกองทุนส่วนบุคคล Jitta Wealth Thematic ศึกษา หรือติดต่อสอบถามได้ที่เว็บไซต์ https://jittawealth.com/thematic

    ———

    ลงทะเบียนรับความรู้การลงทุน passive

    รับความรู้การลงทุน passive ฟรี เพื่อเริ่มลงทุนอย่างสบายใจ กำไรอย่างยั่งยืน

    Senior Content Editor