“ในมุมมองของผม สำหรับคนส่วนใหญ่สิ่งที่ดีที่สุดที่ควรทำคือครอบครอง กองทุนดัชนี S&P 500 แน่นอนว่าผู้คนจะพยายามขายสิ่งอื่นให้คุณ เพราะมันจะทำให้พวกเขาได้เงินมากกว่าเดิม”
– Warren Buffett
หากจะพูดถึง นายแบก ของการลงทุนเชิงรับ (Passive Investment) ตั้งแต่เริ่มแรกจนถึงปัจจุบัน ชื่อของปู่ Warren Buffett จะโผล่ขึ้นมาในหัวเสมอ
และไม่ใช่แค่ในหัวของนักลงทุนเท่านั้น ชื่อของปู่ยังไปปรากฎในเซิร์ซเอนจินด้วย ถ้าคุณกดค้นหาคำว่า Index Fund หรือ S&P 500 ETF
นายแบกการลงทุนเชิงรุกของเรา ถึงกับเคยเดิมพันครั้งใหญ่ ระหว่างการลงทุนเชิงรับ (Passive Investment) และการลงทุนเชิงรุก (Active Investment) แบบไหนจะชนะ โดยยอมใช้เวลาพิสูจน์การเดิมพันครั้งนี้กว่า 10 ปีซึ่งเป็นระยะเวลาที่ยาวเพียงพอที่จะพิสูจน์ผลตอบแทนว่า การลงทุนอิงดัชนี S&P 500 กับ การลงทุนแบบเฮดจ์ฟันด์ ที่ซื้อขายหุ้นบ่อยๆ สุดท้ายในระยะยาวการลงทุนแบบไหนจะเป็นผู้ชนะ
ผลการต่อสู้จะทำให้คุณทึ่งถึงขุมพลังแห่งการลงทุนเชิงรับ (Passive Investment) ซึ่งเป็นการลงทุนแบบเรียบง่ายที่คุณไม่ต้องทำอะไรมาก แต่ก็ช่วยสร้างความมั่งคั่งและผลตอบแทนที่น่าพอใจในระยะยาวให้กับคุณได้จริง
หากคุณอยากฟังเรื่องราวนี้ แบบละเอียดพร้อมข้อมูลที่เจาะลึกมากยิ่งขึ้น เราได้เล่าเรื่องราวนี้ในรูปแบบพอดแคสต์ไว้แล้ว คุณสามารถเข้าไปฟังได้ที่ Passive Way Story – การเดิมพันครั้งใหญ่ของ Buffett ระหว่าง Passive vs Active
จากเรื่องราวทั้งหมดนี้ก็คงสรุปสั้นๆ ได้ว่า Warren Buffett เป็นนายแบกการลงทุนเชิงรับ และยังเป็นแฟนตัวยงของการลงทุกใน Index Fund โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองหุ้นสหรัฐฯ ชื่อดังอย่าง S&P 500 แต่กองไหนที่อยู่ในพอร์ต Berkshire Hathaway ของปู่บ้าง ไปดูกัน
เลือก S&P 500 ETF ให้ปังตามแบบ Buffett
ย้อนกลับไปถึง Index Fund ที่ปู่ Buffett เคยลงทุนในตอนที่ท้าเดิมพัน Passive vs. Active ปู่เลือก Vanguard 500 Index Fund Admiral Shares (VFIAX) โดยสิ่งที่ปู่ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกและพูดถึงอยู่บ่อยๆ คือ อัตราค่าใช้จ่ายรวม (Expense Ratio)
VFIAX มีอัตราค่าใช้จ่ายรวมเพียงแค่ 0.04% เท่านั้น หมายความว่าถ้าคุณลงทุน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ จะถูกเก็บค่าธรรมเนียมเพียง 4 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อปีเท่านั้น ค่าธรรมเนียมที่น้อยจะทำให้คุณได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากยิ่งขึ้น
ซึ่งหากนำกองทุนแบบ Passive ไปเทียบกับกองทุนแบบ Active จะแตกต่างกันมากเพราะกองทุนแบบ Active ส่วนใหญ่จะมีอัตราค่าใช้จ่ายรวมอยู่ที่ประมาณ 1-2% ซึ่งเป็นผลตอบแทนที่จะกัดกินผลตอบแทนไปมากกว่าการลงทุนแบบ Passive
แต่เรื่องที่หลายคนอาจจะไม่รู้ VFIAX ได้ถูกแตกเวอร์ชันออกมาเป็น ETF ด้วยเช่นกัน นั่นคือ Vanguard S&P 500 ETF (VOO) ซึ่งจะเคลื่อนที่ไปตามดัชนี S&P 500 และเป็นหนึ่งใน ETF ที่ปู่ Buffett พกเอาไว้ติดพอร์ต Berkshire Hathaway ของเขาจนถึงปัจจุบันนี้
สำหรับการลงทุนแบบ Passive การเลือกลงทุน ETF ตามฉบับ Buffett ไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิด แต่เพราะอะไรที่ทำให้ VOO โดดเด่นถึงขนาดที่ Buffett เลือกลงทุนไปดูกันต่อ
Vanguard S&P 500 ETF (VOO)
กองทุน S&P 500 ETF ค่าธรรมเนียมต่ำการันตีด้วยบริษัทจัดการกองทุนที่แข็งแกร่งอย่าง Vanguard เคลื่อนที่ไปตามดัชนีอ้างอิงเป็นหนึ่งใน ETF ที่ใหญ่ที่สุด และก่อตั้งมาเป็นระยะเวลานานกว่า 10 ปีเต็ม
ETF | วันเปิดตัว ETF | อัตราค่าใช้จ่ายรวม | มูลค่า AUM | ผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี |
VOO | 7 SEP 2553 | 0.03% | 317,763 | +22.33% |
หน่วย: ล้านดอลลาร์สหรัฐ ข้อมูลจาก etfdb ณ 21 มิถุนายน 2566
จริงๆ การลงทุนใน VOO ก็ค่อนข้างตอบโจทย์สำหรับการลงทุนที่เคลื่อนที่ไปตามดัชนี S&P 500 ได้สมบูรณ์แล้ว แต่สำหรับปู่ Buffett ที่มีความคิดรอบด้านและต้องการกระจายความเสี่ยงให้ลึกลงไปจนถึงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ทำให้ VOO เพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ
แล้วมีตัวไหนอีกที่ปู่เลือกมาใส่พอร์ตเพื่อการกระจายความเสี่ยง คำตอบนั้นคือ SPDR® S&P 500® ETF Trust (SPY) เป็นอีกตัวหนึ่งที่อยู่ในพอร์ต
SPDR® S&P 500® ETF Trust (SPY)
กองทุนประเภทเดียวกับ VOO ถูกออกแบบให้เคลื่อนที่ไปตามดัชนีอ้างอิง SPY เป็นกองทุน ETF แรกที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปี 2536 และได้รับความนิยมมากที่สุดสำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนตามดัชนีอ้างอิง ณ ปัจจุบัน SPY เป็น ETF ที่มีมูลค่า AUM สูงที่สุดในโลก ทำให้มีสภาพคล่องสูงมากสำหรับนักลงทุนรายใหญ่และรายย่อย
ETF | วันเปิดตัว ETF | อัตราค่าใช้จ่ายรวม | มูลค่า AUM | ผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี |
SPY | 22 JAN 2536 | 0.094% | 411,463 | +21.89% |
หน่วย: ล้านดอลลาร์สหรัฐ ข้อมูลจาก etfdb ณ 21 มิถุนายน 2566
กระจายความเสี่ยง เพิ่มสภาพคล่อง
สำหรับเหตุผลที่ปู่ Buffett เลือกลงทุนทั้ง 2 ตัวแทนที่จะเป็นตัวเดียว สาเหตุแรกอาจจะเพราะว่าปู่ต้องการ กระจายความเสี่ยงระหว่างผู้ให้บริการกองทุน แม้ว่า ETF ทั้งสองจะติดตามดัชนีเดียวกัน แต่ก็จัดการโดยบริษัทที่แตกต่างกันออกไปหากบริษัทใดเกิดปัญหา (ถึงแม้ว่าจะมีโอกาสน้อยมากถึงมากที่สุด) ก็ยังมี ETF อีกบริษัทที่ถืออยู่ในพอร์ตให้อุ่นใจมากขึ้น
อีกสาเหตุคือ สภาพคล่อง (Liquidity) ปู่ Buffett เป็นคนที่ให้ความสำคัญในเรื่องสภาพคล่องเช่นกัน สังเกตได้จากพินัยกรรมที่ปู่ Buffett ทิ้งเอาไว้ให้ภรรยา ที่บอกให้กระจายการลงทุน 90% ไปใน S&P 500 Index Fund และอีก 10% ให้ลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น ซึ่งสัดส่วน 10% คือส่วนที่เพิ่มสภาพคล่องให้พอร์ตโดยรวม
SPY เป็น ETF ที่มีมูลค่า AUM สูงที่สุดในโลกถึงแม้ว่าจะมีอัตราค่าใช้จ่ายรวมที่สูงกว่าแต่ด้วยระยะเวลาก่อตั้งที่นานกว่า (เพราะเป็น ETF ตัวแรกที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ) ทำให้ค่อนข้างมั่นใจได้ว่า SPY จะยังอยู่ไปตลอดและเป็นตัวเลือกที่ดีที่จะช่วยเพิ่มสภาพคล่อง
หากจะให้อธิบายถึงความสำคัญของสภาพคล่องต่อนักลงทุนรายย่อย และนักลงทุนรายใหญ่สามารถเข้าใจได้ผ่านงานปาร์ตี้โดยเปรียบเทียบง่ายๆ ได้ดังนี้
หากคุณอยู่ในปาร์ตี้และคุณมีมันฝรั่งอย่างนึงที่คุณกินจนอิ่มแล้ว และต้องการไปแลกอย่างอื่นมาเช่น โค้กสักกระป๋อง หรือ หมากฝรั่งสักชิ้น หากงานปาร์ตี้มีคนอยู่ในงานหลายคน การหาคนที่ต้องการมันฝรั่งก็ไม่ใช่เรื่องยาก และคุณจะได้สิ่งที่คุณต้องการได้อย่างรวดเร็ว
แต่หากไม่ค่อยมีคนอยู่ในงานปาร์ตี้สักเท่าไรนัก คุณอาจพบปัญหาในการหาคนแลกขนมด้วย หรือร้ายที่สุดคือคุณอาจจะแลกขนมกับคนอื่นไม่ได้เลย ซึ่งเหมือนหุ้นที่มีสภาพคล่องน้อยและอาจไม่มีใครต้องการหุ้นตัวนั้นแบบจริงๆ
ในโลกของการลงทุน ‘ปาร์ตี้’ ก็คือตลาดหุ้น หากหุ้นหรือ ETF มีสภาพคล่องสูง หมายความว่า มีผู้ซื้อและผู้ขายจำนวนมาก คุณสามารถขายหุ้นของคุณได้อย่างรวดเร็วและง่ายดายทุกเมื่อที่คุณต้องการ และคุณจะได้ราคาที่ยุติธรรมสำหรับหุ้นเหล่านั้น
แต่ถ้าหุ้นหรือ ETF ไม่มีสภาพคล่องมากเหมือน ‘ปาร์ตี้ที่ไม่ค่อยมีคน’ คุณอาจต้องใช้เวลานานเพื่อหาผู้ซื้อเมื่อคุณต้องการขายหุ้นของคุณ และมีโอกาสที่คุณจะต้องลดราคาหุ้นหรือ ETF ของคุณลง หรือขายมันไม่ได้เลยในภาวะตลาดที่ไร้สภาพคล่อง
ดังนั้น สภาพคล่องจึงมีความสำคัญต่อทั้งนักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบันขนาดใหญ่ เพราะจะส่งผลต่อความรวดเร็วในการซื้อหรือขายหุ้น รวมไปถึงจำนวนเงินที่คุณจะได้รับจากการขายออกไปนั่นเอง นี่คือเหตุผลทั้งหมดที่ทำให้ปู่ Buffett ให้ความสำคัญกับสภาพคล่องด้วยเช่นเดียวกัน
การตัดสินใจเลือกตามปู่เป็นทางเลือกที่ไม่เลวสำหรับผู้ที่ต้องการให้พอร์ตเคลื่อนที่ไปตามดัชนี S&P 500 แต่แน่นอนว่าปัจจุบันมี ETF ที่ถูกออกแบบมาให้เคลื่อนที่ไปตามดัชนีดังกล่าวมากมาย ทำให้คุณมีตัวเลือกมากยิ่งขึ้น และแน่นอนว่าในแต่ละอันก็จะมีความแตกต่างกันออกไป
หวังว่าวันนี้คุณจะได้รู้จักกับ 2 ETF ที่อยู่ในพอร์ต Berkshire Hathaway เหตุผลที่ทำให้ปู่ Buffett เลือกลงใน 2 ตัวแทนที่จะเป็นตัวเดียว และไม่แน่ว่าหลังอ่านบทความนี้จบคุณอาจได้คำตอบแล้วว่าควรเลือกลงทุนใน ETF ตัวไหนดี

หากคุณอ่านบทความแล้วชอบ อย่าลืมกรอกอีเมลเพื่อติดตาม Passive Way Newsletter ได้ที่หน้าเว็บไซต์แล้วเราจะคอยอัปเดตบทความใหม่ๆ ให้กับคุณเสมอ
ลงทะเบียนรับความรู้การลงทุน passive
รับความรู้การลงทุน passive ฟรี เพื่อเริ่มลงทุนอย่างสบายใจ กำไรอย่างยั่งยืน
- 2 Warren Buffett ETFs to Stock Up On in 2023 https://www.fool.com/investing/2023/01/19/2-warren-buffett-etfs-to-stock-up-on-in-2023/
- 1 Warren Buffett ETF That Could Turn $300 Per Month Into $1 Million https://www.nasdaq.com/articles/1-warren-buffett-etf-that-could-turn-%24300-per-month-into-%241-million
- VOO – S&P500 ETF https://institutional.vanguard.com/investments/product-details/fund/0968
- Vanguard S&P500 ETF https://etfdb.com/etf/VOO/#etf-ticker-profile
- SPDR® S&P 500® ETF Trust https://www.ssga.com/us/en/individual/etfs/funds/spdr-sp-500-etf-trust-spy
- How SPY Reinvented Investing: The Story of the First US ETF jitta.co/43V3M2r
- SPDR S&P500 ETF Trust https://etfdb.com/etf/SPY/#etf-ticker-profile
- Warren Buffett’s Directive for His Wife’s Assets https://www.colonialriver.com/blog/warren-buffetts-directive-for-his-wifes-assets