Table of Content

บทนำ

รีวิวงบร้านอาหาร ?️ ไตรมาส 1 ปี 2563

Stock Vitamins

5 min read

  • 8 JUN 2020
  • Table of Content

    บทนำ

    คุณอยากมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของร้านอาหารร้านไหนบ้างครับ ทั้งสุกี้ ชาบู ปิ้งย่าง ปลาดิบ ซูชิ ขนมเค้ก ขนมหวาน ฯลฯ ง่ายๆ แค่ซื้อหุ้นที่จดอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ แต่ซื้อหุ้นร้านไหนดี ?  มาดูความแตกต่างกันดีกว่าครับ

    เริ่มต้นที่โครงสร้างงบกำไรขาดทุนกันก่อน

    ใช้ตัวเลขเต็มปี 2019 เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจน และหยิบหุ้นที่เป็นร้านอาหารเป็นหลักเพื่อที่จะได้เปรียบเทียบกันได้ จริงๆ มีหุ้นอย่าง MINT CENTEL OISHI ก็ขายอาหาร แต่จะมีส่วนที่เป็นโรงแรมและเครื่องดื่มพอสมควร เลยไม่ได้นำมาวิเคราะห์เพื่อไม่ให้ bias ครับ

    M

    ขายสุกี้ 100 บาท เป็นต้นทุนขาย 31 บาท ค่าน้ำไฟ เงินเดือน ค่าเช่า ค่าโฆษณา 52 บาท ดอกเบี้ยและภาษี 3 บาท เหลือเป็นกำไร 14 บาท

    AU

    ขายขนมหวาน 100 บาท เป็นต้นทุนขาย 35 บาท ค่าน้ำไฟ เงินเดือน ค่าเช่า ค่าโฆษณา 41 บาท ดอกเบี้ยและภาษี 4 บาท เหลือเป็นกำไร 20 บาท

    กลุ่มแรก M กับ AU แบรนด์ดัง มาร์จิ้นสูง GPM 65-69% แต่ SG&A ก็สูงเช่นกัน หลักๆ ก็ค่าเงินเดือนพนักงานและค่าเช่าร้าน หักดอกเบี้ยภาษี กำไรก็เหลือเยอะอยู่

    ZEN

    ขายอาหารญี่ปุ่น 100 บาท เป็นต้นทุนขาย 52 บาท ค่าน้ำไฟ เงินเดือน ค่าเช่า ค่าโฆษณา 44 บาท ดอกเบี้ยและภาษี 1 บาท เหลือเป็นกำไร 3 บาท

    SNP

    ขายเค้ก เบเกอรี่ 100 บาท เป็นต้นทุนขาย 58 บาท ค่าน้ำไฟ เงินเดือน ค่าเช่า ค่าโฆษณา 38 บาท ดอกเบี้ยและภาษี 0.5 บาท เหลือเป็นกำไร 4 บาท

    ZEN กับ SNP เป็นหุ้นที่ต้นทุนสูงขึ้นมาหน่อย GPM ทำได้ 42-48% และยังต้องจ่ายค่าเงินเดือน ค่าเช่า พอสมควร ทำให้เหลือกำไรบางๆ แค่ 3-4 บาท ซึ่งก็ถือเป็นความเสี่ยงเหมือนกันถ้าเกิดควบคุมต้นทุนไม่ได้ หรือ SG&A เกิดบวมขึ้นมา

    MM

    ขายโดนัท โอบอนแปง 100 บาท เป็นต้นทุนขาย 39 บาท ค่าน้ำไฟ เงินเดือน ค่าเช่า ค่าโฆษณา 61 บาท ดอกเบี้ยและภาษี 1 บาท ขาดทุน 1 บาท

    JCKH

    ขายสุกี้ ปิ้งย่าง 100 บาท เป็นต้นทุนขาย 47 บาท ค่าน้ำไฟ เงินเดือน ค่าเช่า ค่าโฆษณา 63 บาท ดอกเบี้ยและภาษี 1 บาท ขาดทุน 11 บาท

    MM กับ JCKH ต้นทุนขายไม่ได้ต่ำมาก แต่ไปบวมที่ SG&A เยอะมาก ทำให้สุดท้ายขาดทุน

    ผลประกอบการกันบ้างว่า งบ Q1’20 เป็นอย่างไร หลังจากโดนผลกระทบ COVID-19 ในเดือนมีนาคม

    M กำไร 340 ล้านบาท -52%

    • รายได้ -12% SSSG ลดลงหนัก -20% ทั้ง MK สุกี้ และยาโยอิ (MK ทรงๆ รอบนี้เพิ่งลบหนัก ส่วนยาโยอิ ติดลบมาหลายไตรมาสแล้ว)
    • ต้นทุนขายและ SG&A ลดลงได้ไม่เยอะ เพราะว่า Fix Cost มีพอสมควรทั้งวัตถุดิบที่เหลืออยู่ ห้างปิดกะทันหันเคลียร์ของไม่ทัน และค่าเงินเดือนพนักงานลดไม่ได้มาก ทำให้กำไรลดลงหนัก
    • แต่เนื่องจากการที่มีอัตรากำไรสูงตั้งแต่ขั้นต้น ทำให้ถึงแม้กำไรจะลงมาเยอะ แต่ NPM ยังอยู่ได้ที่ 8.8%

    AU กำไร 13 ล้านบาท -78%

    • รายได้ -24% SSSG ลดลงหนัก -29% ข้อสังเกตคือว่า SSSG ลดลง 2 ไตรมาสติดแล้ว (ตั้งแต่ก่อน COVID) เป็นร้านที่อยู่ในห้างเยอะ และพึ่งพานักท่องเที่ยวด้วย
    • กำไรขั้นต้นก็ลดลง เพราะว่าต้องเคลียร์วัตถุดิบที่ค้างอยู่
    • SG&A ลดไม่ได้ แถมยังเพิ่มอีก คือ ค่าใช้จ่ายในการขาย +1% ค่าใช้จ่ายบริหาร +2% จากการเปิดสาขา ค่าธรรมเนียมการใช้ platform ส่งอาหาร (น่าจะพวก Grab, Ger, Line Man) และสำรองปิดสาขาร้าน Durian
    • คล้ายๆ M คือ โครงสร้างกำไรแข็งแรง ทำให้ NPM ยังบวกได้ที่ 6%

    ZEN ขาดทุน 44 ล้านบาท

    • รายได้ -12% SSSG ลดลงหนัก -26.5% เป็นการลดลงต่อเนื่องมาหลายไตรมาสคล้ายๆ ยาโยอิ
    • ต้นทุนขายลดได้แค่ 5% ขณะที่ SG&A เพิ่ม 8.8% จากทั้งค่าพนักงาน ค่าเช่า และค่าคอมมิชชั่นให้ Grab, Get, Lineman
    • แต่เนื่องจากว่า โครงสร้างงบของ ZEN ไม่ค่อยแข็งแรงอยู่แล้ว การที่ยอดขายลด แต่ค่าใช้จ่ายลดไม่ได้ ทำให้ขาดทุน NPM -7%

    SNP ขาดทุน 26 ล้านบาท

    • รายได้ -16% SSSG ในประเทศ -15.4% SSSG ต่างประเทศ -35.1% อาจเป็นเพราะในประเทศเราควบคุมโรคได้ดีกว่า
    • ต้นทุนขายลดได้แค่ 9% แต่พยายามไปลด SG&A ได้ถึง 16%
    • แต่ก็คล้าย ZEN ที่โครงสร้างงบเปราะบาง กำไรน้อย ทำให้ขาดทุน NPM -2%

    MM ขาดทุน 60 ล้านบาท

    • มัดแมนขาดทุนมาหลายปีแล้ว แต่รอบนี้หนักขึ้นตรงที่ขาดทุนตั้งแต่ก่อนจ่ายดอกเบี้ยและภาษี
    • ปกติรายได้โตลดลงประมาณ 5% แต่รอบนี้ลดลง 17% ขณะที่ต้นทุนและ SG&A ลงได้น้อยกว่า
    • แถมยังมีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยสำหรับการลงทุนร้านอาหารที่ปารีสอีกด้วย ทำให้ขาดทุนหนักขึ้น

    JCKH ขาดทุน 63 ล้านบาท

    • คล้ายๆ มัดแมน คือ ขาดทุนมาหลายปี แต่เป็นการขาดทุนตั้งแต่ก่อนดอกเบี้ยมาโดยตลอด
    • รายได้ปกติลบ 10-18% รอบนี้ -30%
    • แต่มีความเก่งที่ไปลดต้นทุนอาหารได้ 38% แต่ SG&A ก็ลดไม่ได้มาก ได้แค่ -16% สุดท้ายเลยขาดทุนตามระเบียบ

    โดยสรุป บทเรียนที่เราได้เห็นจากหุ้นร้านอาหารรอบนี้คือ

    1. เมื่อเกิดวิกฤต ทุกบริษัทได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า รายได้จะหด แต่กำไรจะหายมากกว่า เพราะว่ามีต้นทุนคงที่อย่างค่าเงินเดือนพนักงานที่ลดไม่ได้ทั้งหมด
    2. บริษัทที่มีโครงสร้างงบแข็งแรงจะอยู่รอดได้มากกว่า ยังทำกำไรได้ แม้ว่าจะลดลง เช่น M และ AU
    3. การที่ Business Model พึ่งพาตัวร้านอาหารแบบนั่งกินเยอะ ทำให้โดนผลกระทบเยอะ จากยอดขายที่หายไป และการปรับเปลี่ยนรูปแบบไปใช้ platform delivery ที่พึ่งพา Grab, Get, Lineman ทำให้เสียค่าคอมมิชชันเพิ่มเติม หุ้นอย่าง M, AU ที่มี GPM สูง ยังโอเค ทำกำไรได้แม้จะน้อยลง แต่หุ้นบางตัวที่โครงสร้างงบไม่แข็งแรง เมื่อเกิดค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มเข้ามา รวมกับ SG&A เดิมที่ลดได้อยากอยู่แล้วจึงขาดทุนกันไป บางบริษัทขาดทุนตั้งแต่ก่อนจ่ายดอกเบี้ยก็มี

    ตอนนี้ ร้านอาหารกลับมาเปิดกันแล้วด้วยรูปแบบใหม่ ที่ต้องจำกัดจำนวนคนนั่งต่อโต๊ะ ร้านบุฟเฟต์ก็ต้องสั่งที่โต๊ะ มีมาตรการดูแลเรื่องความสะอาดมากขึ้น ก็ต้องมาติดตามกันต่อว่า รายได้ที่เข้ามาจะเพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นหรือเปล่า เอาใจช่วยทุกร้านอาหารครับ

    #ส่องหุ้นสู้วิกฤต #Jiita #วิตามินหุ้น

    Source: S&P Global Market Intelligence เรียบเรียงโดย Jitta

    ลงทะเบียนรับความรู้การลงทุน passive

    รับความรู้การลงทุน passive ฟรี เพื่อเริ่มลงทุนอย่างสบายใจ กำไรอย่างยั่งยืน