Table of Content

บทนำ

หาหุ้นเติบโตฝ่าวิกฤตไตรมาส 2 ตอนที่ 2

Stock Vitamins

5 min read

  • 28 SEP 2020
  • Table of Content

    บทนำ

    จากบทความแรกที่พูดถึงหุ้นที่กำไรเติบโต รายได้เติบโต หนี้สินน้อย ROE สูง Jitta Score สูง และราคาถูกกว่า Jitta Line ทำให้เราได้หุ้นมาทั้งหมด 10 บริษัท คือ
    LALIN, PT, ICN, TFMAMA, PHOLPRM, SWC, SAWAD, TNP, SMPC

    3 บริษัทแรกเราพูดแล้วในบทความตอนที่ 1 สามารถคลิกอ่านได้ที่นี่ วันนี้เราจะมาเล่าให้ฟังต่อกับ 4 บริษัทต่อมา คือ TFMAMA, PHOL, PRM และ SWC


    TFMAMA

    • มีคำพูดที่ว่า ยามเศรษฐกิจไม่ดี “มาม่า” จะขายดี ดูแล้วท่าจะจริง เพราะหุ้น TFMAMA เติบโตทั้งรายได้และกำไรต่อเนื่องมาหลายปี
    • แต่ TFMAMA นั้นไม่ได้ขายแค่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แต่ยังขายโจ๊ก เบเกอรี่ ขนมปังกรอบ (บิสกิต, แครกเกอร์, เวเฟอร์) และน้ำผลไม้ อีกด้วย โดยเป็นการขายในประเทศ 80% และต่างประเทศ 20% (ประมาณครึ่งนึงขายในเอเชีย ตามมาด้วยยุโรป และสหรัฐอเมริกา)
    • รายได้ Q2 เท่ากับ 6,185 ล้านบาท +4.4% เติบโตมาจากการตุนสินค้าช่วง COVID ทั้งในและต่างประเทศ แต่น่าสังเกตว่าสินค้ากลุ่มเบเกอรี่ยอดขายลดลง ถ้าให้เดา คิดว่าคนอยากจะตุนของกินที่จำเป็น ทำง่าย เก็บได้นานอย่างบะหมี่หรือโจ๊กกึ่งสำเร็จรูปมากกว่า
    • กำไรสุทธิ Q2 เท่ากับ 1,142 ล้านบาท +17.2% จะเห็นได้ว่า กำไรโตมากกว่ารายได้เยอะเลย นั่นก็เพราะต้นทุนวัตถุดิบลดลงเยอะ และปีที่แล้ว SG&A บวมจากตั้งสำรองผลประโยชน์พนักงานเกษียณ
    • D/E 0.16 เท่า ถือว่าต่ำมาก เป็นบริษัทที่มีสภาพคล่องสูง ไม่ค่อยมีหนี้ที่มีดอกเบี้ย เป็นเจ้าหนี้การค้าเป็นหลัก
    • ROE 18.1 เท่า อยู่ในระดับนี้สม่ำเสมอ
    • P/E 15.4 เท่า P/BV 2.64 เท่า
    • Jitta Score 7.48 สูงมาก
    • ราคาถูกกว่า Jitta Line 27.98%
    • อันดับ 2 บน Jitta Ranking

    แนวโน้มในอนาคตของ TFMAMA

    ดูจากผลงานในอดีตที่ผ่านมาก็จะเห็นว่า TFMAMA เติบโตได้เรื่อยๆ ทั้งในและต่างประเทศ ผ่านทั้งการออกรสชาติใหม่ การเน้นไปทางสินค้าราคาสูงขึ้นอย่าง มาม่าคัพ มาม่า OK และการทำโปรโมชั่นอยู่เรื่อยๆ ก็ดูแนวโน้มว่าน่าจะเติบโตได้แต่คงไม่ได้หวือหวามากนัก แต่เรื่องของต้นทุนวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์ก็เป็นสิ่งที่ต้องติดตามเช่นกันว่าจะลดลงได้ต่อเนื่องหรือเปล่า

    PHOL

    • แรกเริ่มเดิมที ตั้งแต่ปี 2504 บริษัทนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อจำหน่ายเมล็ดธัญพืชและสินค้าทางการเกษตร สอดคล้องกับชื่อ “ผลธัญญะ” ต่อมาได้เปลี่ยนมาเป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้าด้านความปลอดภัย เช่น หมวกนิรภัย แว่นตานิรภัย หน้ากากป้องกันฝุ่นและสารเคมี ชุดผจญเพลิง เป็นต้น รวมไปถึงสินค้าด้านระบบบำบัดน้ำ และสินค้าด้านควบคุมสภาพแวดล้อม
    • รายได้ เคยขึ้นไปเกิน 1 พันล้านบาท เมื่อปี 2016 แต่หลังจากนั้นก็ลดลงต่อเนื่องทุกปี จนมา Q2 ปีนี้ ทำรายได้ 245 ล้านบาท +10.7% แน่นอนว่า ช่วง COVID-19 สินค้าเกี่ยวกับความปลอดภัย ป้องกันโรคต่างๆ ขายดี ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัย ชุดป้องกัน (PPE) ถุงมือยาง
    • เคยขาดทุน 2 ปี ซ้อนเมื่อปี 2016-2017 ก่อนที่จะค่อยๆ กำไรเพิ่มขึ้นตามยอดขาย และล่าสุด Q2 ปีนี้ทำกำไรได้ 18.4 ล้านบาท +958.8% โตเยอะมากมาย เพราะสินค้าด้านความปลอดภัยที่ขายมีมาร์จิ้นสูง เป็นที่ต้องการของตลาดมาก และ SG&A ลดลงเยอะจากปีที่แล้วตั้งสำรองผลประโยชน์พนักงานเกษียณเหมือน TFMAMA
    • D/E 1.04 เท่า ก็ไม่ได้สูงมากนัก
    • ROE 24.4 เท่า สูงแต่โตกระโดดจากอัตรากำไรที่สูงขึ้นมาก
    • P/E 6.3 เท่า P/BV 1.44 เท่า
    • Jitta Score 5.33 สูงใช้ได้
    • ราคาถูกกว่า Jitta Line 25.43%
    • อันดับ 17 บน Jitta Ranking

    แนวโน้มในอนาคตของ PHOL

    เป็นคำถามที่ต้องตอบให้ได้ว่า ถ้าเมื่อไหร่ที่ COVID จบลง จะกระทบกับยอดขายของบริษัทให้ลดลงตามมั้ย เพราะตัวเลขงบการเงินหลายปีที่ผ่านมา ยอดขายหดตัวลงตลอด จนมาปีนึ้ถึงจะโตจากเหตุการณ์โรคระบาด และสินค้าที่ขาดีอย่างหน้ากากอนามัย หรือถุงมือยาง ก็อาจไม่ได้ขายดีเท่านี้ หรือขายได้ในราคานี้ตลอดไป ก็ต้องติดตามว่า PHOL มีแผนที่จะรักษาความยั่งยืนได้อย่างไร

    PRM

    • ให้บริการขนส่งและจัดเก็บเกี่ยวกับน้ำมัน แบ่งเป็น 4 ประเภทธุรกิจหลัก
    1. เรือขนส่งน้ำมันและปิโตรเคมีเหลว
    2. เรือขนส่งและจัดเก็บน้ำมัน (FSU)
    3. เรือขนส่งที่ให้การสนับสนุนงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกลางทะเล (Offshore)
    4. บริหารจัดการเรือ
    • รายได้หลักมาจาก 2 ธุรกิจแรก ช่วง COVID การขนส่งน้ำมันลดน้อยลงตามการใช้งานที่ลดลง แต่พระเอกของรอบนี้คือ FSU ทีได้ประโยชน์จาก IMO ซึ่งเป็นมาตรการที่กำหนดให้เรือขนส่งระหว่างประเทศต้องปรับเปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ให้ลดการปล่อยก๊าซกำมะถันจาก 3.5% เหลือ 0.5% ทำให้ PRM ได้ประโยชน์ทั้งการเก็บและผสมบนเรือที่มี เรียกได้ว่าเต็มหมดทุกลำ และยังปรับราคาขึ้นได้อีกด้วย
    • รายได้ Q2 เท่ากับ 1,495 ล้านบาท +17.8% ได้ประโยชน์จาก FSU ที่มีอยู่ 8 ลำ ไปเต็มๆ และน่าจะดีต่อเนื่อง ขณะที่เรือขนส่งน้ำมันก็คาดว่าน่าจะกลับมาดีขึ้นตอน Q3-4 หลังจากที่ Demand เริ่มกลับมา การเดินทางเริ่มมากขึ้น
    • กำไรสุทธิ Q2 เท่ากับ 442 ล้านบาท +56% จริงๆ ดีขึ้นมากตั้งแต่ GPM ที่กระโดดขึ้นมาอยู่ที่ 47.6% จากปกติ 30 กลางๆ ก็เป็นผลมาจากการปรับสัญญาและการใช้งานเต็มที่ของ FSU
    • D/E 0.76 เท่า ยังสามารถขยายกองเรือเพิ่มเติมได้อีก ซึ่งบริษัทก็มีแผนอยู่ แต่ติดที่ COVID ทำให้ไปตรวจสภาพเรือทำได้ล่าช้า
    • ROE 17.6 เท่า
    • P/E 18 เท่า P/BV 3 เท่า
    • Jitta Score 5.41 อยู่ในเกณฑ์ใช้ได้
    • ราคาถูกกว่า Jitta Line 23.89%
    • อันดับ 52 บน Jitta Ranking

    แนวโน้มในอนาคตของ PRM

    ถ้าในระยะสั้นๆ ก็ต้องบอกว่า น่าจะยังสดใสอยู่จากตัว FSU ที่มีการใช้งานเต็มที่ ปรับสัญญาเพิ่มรายได้มากขึ้น และก็ยังมีแผนขยายกองเรือมากกว่าเดิม แต่ในระยะยาวกว่านั้น ก็ต้องคอยติดตามเรื่องความผันผวนของ FSU หรือมาตรการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่าง IMO ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนอะไรหรือเปล่าเช่นกัน เรียกได้ว่า FSU คือ เครืองยนต์สำคัญที่มีผลอย่างมากต่อกำไรของ PRM เลยก็ว่าได้

    SWC

    • เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์ในครัวเรือน มีแบรนด์ที่รู้จักกันคือ เชนไดร้ท์ กำจัดปลวก ทีโพล์ น้ำยาล้างจาน และก็ยังไปซื้อแบรนด์เพิ่มเติมเช่น ถั่วมารูโจ้ นมฮอกไกโด
    • ที่ผ่านมารายได้เติบโตมาได้ดี โดยเฉพาะปี 2018 โตค่อนข้างเยอะ มีการเร่งทำตลาดในผลิตภัณฑ์กำจัดแมลง และสามารถดึงส่วนแบ่งการตลาดจากคู่แข่งมาได้พอสมควร
    • พอมาปีนี้ รายได้ Q1 ดูแผ่วลงไปจากช่วง Lock Down สินค้าเคมีภัณฑ์ขายไม่ดี
    • แต่ Q2 กลับขึ้นมาดีขึ้น ทำรายได้เท่ากับ 368 ล้านบาท +25.1% ส่วนหนึ่งมาจากฐานที่ต่ำในปีที่แล้ว และอีกส่วนมาจากสินค้าอย่าง ทีโพล์แอลกอฮอล์เจล และ ทีโพล์แอลกอฮออล์สเปรย์
    • กำไรสุทธิ ถ้าดูเป็นรายปี ก็เติบโตสอดคล้องกับรายได้ที่เพิ่ม แต่เริ่มแผ่วลงมาตอน Q1 และกลับมาดีขึ้นในช่วง Q2 โดยมีกำไรเท่ากับ 16.4 ล้านบาท +231.1% (Q2’19 ขาดทุน 12.5 ล้านบาท)
    • D/E 1.19 เท่า
    • ROE 27.3 เท่า
    • P/E 7.9 เท่า P/BV 2.07 เท่า
    • Jitta Score 6.46 สูงใช้ได้
    • ราคาถูกกว่า Jitta Line 19.9%
    • อันดับ 7 บน Jitta Ranking

    แนวโน้มในอนาคตของ SWC

    ต้องบอกว่า รายได้โตดีขึ้นมาช่วงหนึ่ง ขยายตลาดเยอะทั้งสินต้าตัวเอง และซื้อแบรนด์อื่นเข้ามา (ถีงแม้ไม่ใช่แบรนด์ใหญ่) รวมทั้งการทำโปรโมชั่น การตลาดแย่งชิง market share แต่ช่วงหลังดูเหมือนรายได้ขึ้นๆ ลงๆ ไม่สม่ำเสมอ ได้รับผลกระทบ COVID อยู่เหมือนกันสำหรับสินค้าหลักเคมีภัณฑ์ แต่อีกมุมหนึ่งคือควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายได้ดี ก็ต้องตามดูกลยุทธ์ต่อไปว่าจะสามารถโตแบบสม่ำเสมอได้มากน้อยแค่ไหน

    โปรดติดตามต่อตอนหน้าสำหรับหุ้นอีก 4 บริษัทที่เหลือครับ

    #Jitta #วิตามินหุ้น #หุ้นเติบโต

    Source: S&P Global Market Intelligence และ set.or.th เรียบเรียงโดย Jitta

    ลงทะเบียนรับความรู้การลงทุน passive

    รับความรู้การลงทุน passive ฟรี เพื่อเริ่มลงทุนอย่างสบายใจ กำไรอย่างยั่งยืน