Table of Content

บทนำ

ETF มีอะไรบ้าง พร้อมชี้เป้า ETF น่าสนใจ

Monsicha Hoonsuwan

5 min read

  • 24 SEP 2020
  • Table of Content

    บทนำ

    ETF มีอะไรบ้าง พร้อมชี้เป้า ETF น่าสนใจ

    ETF เป็นลูกผสมระหว่างกองทุนรวมดัชนี กับหุ้น เป็นเหมือนกองทุนดัชนีที่สามารถซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ได้เลย ไม่ต้องรอราคาอัปเดตตอนสิ้นวันเหมือนกองทุนรวมทั่วไป ทั้งยังกระจายการลงทุนในหลักทรัพย์จำนวนมากตามดัชนีที่อ้างอิง จึงจัดว่าเป็นเครื่องมือลงทุนที่ความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ

    ETF ยังมีจุดเด่นอีกมากมาย ที่คุณสามารถย้อนกลับไปอ่านได้ในบทความ กองทุน ETF คืออะไร ทำไม Berkshire ของบัฟเฟตต์ ยังต้องซื้อ และ กองทุน ETF ต่างจากกองทุนรวมดัชนีอย่างไร

    เมื่อทราบถึงประโยชน์ของ ETF กันไปแล้ว คำถามต่อไปที่นักลงทุนส่วนใหญ่มักจะสงสัย ก็หนีไม่พ้น “ETF มีอะไรบ้าง” และ “ETF ไหนน่าสนใจบ้าง

    พอได้ยินคำว่ากองทุนดัชนี หลายคนก็อาจจะนึกถึงดัชนีหุ้นเป็นหลัก แต่จริงๆ แล้ว ETF มีให้เลือกหลายรูปแบบ เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของนักลงทุน

    ในประเทศไทย ที่ได้รับความนิยมกันก็จะเป็น ETF ที่ลงทุนตามดัชนี SET 50 อย่าง TDEX ลงทุนตามดัชนีทองคำอย่าง GLD หรือลงทุนตามดัชนีหุ้นจีน CSI 300 อย่าง CHINA

    นอกจากนี้ยังมี ABFTH ที่ลงทุนในพันธบัตรไทย และ ENGY ที่ลงทุนในดัชนี SET หมวดธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค เป็นต้น

    จะเห็นได้ว่า ETF ในตลาดไทยนั้นมีหลากหลายประเภทให้นักลงทุนเลือกตามอัธยาศัย ไม่ว่าจะเป็น หุ้น พันธบัตร ทอง กลุ่มอุตสาหกรรม หรือแม้แต่หุ้นต่างประเทศ

    แต่ยังถือว่าน้อยมาก!

    เพราะ ETF เป็นเครื่องมือการลงทุนที่ค่อนข้างใหม่สำหรับคนไทย ตัวเลือกจึงยังมีไม่ค่อยเยอะ เพียง 16 กองจาก 5 บริษัท อ้างอิงดัชนีเพียง 14 ดัชนี และมูลค่าการซื้อขายประมาณ 3 ล้านบาทเท่านั้น

    ในขณะที่ ETF ทั่วโลกมีอยู่เกือบ 8,000 กอง ใน 58 ประเทศ พร้อมมูลค่าเงินลงทุนรวมกว่า 6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ

    ที่มา: ETFGI
    (https://etfgi.com/news/press-releases/2020/01/etfgi-reports-assets-global-etfs-and-etps-industry-which-will-turn-30)

    แค่ในสหรัฐฯ จำนวนเงินลงทุนใน ETF ก็เพิ่มจาก 5.3 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2551 เป็น 4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2562 หรือโตประมาณ 11 เท่าในเวลาเพียง 12 ปี

    แสดงให้เห็นถึงความนิยมที่เพิ่มสูงขึ้นแบบฉุดไม่อยู่ของ ETF

    ความหลากหลายและจำนวนที่มากมายของ ETF อาจจะทำให้คุณจับต้นชนปลายไม่ถูก ไม่รู้ ETF มีอะไรบ้าง และจะเริ่มศึกษาแต่ละแบบจากตรงไหน

    เราจึงได้แยกประเภทของ ETF มาให้คุณศึกษา ตามสินทรัพย์ที่ลงทุน ตามนโยบายลงทุน ตามระดับการกระจายความเสี่ยง และตามวิธีคัดเลือกหลักทรัพย์ ดังนี้

    ETF มีอะไรบ้าง

    ประเภทของ ETF แบ่งตามสินทรัพย์ที่ลงทุน

    ETF หุ้น

    ETF หุ้นคือกองทุน ETF ที่ลงทุนตามดัชนีหุ้น เน้นสร้างผลตอบเเทนใกล้เคียงกับผลตอบเเทนของดัชนีราคาหุ้น โดย ETF ประเภทนี้จะได้รับความนิยมมากที่สุด

    ตัวอย่าง ETF หุ้น

    • ESET50 หรือ TDEX ที่ลงทุนในหุ้นที่เป็นส่วนประกอบของดัชนี SET50
    • SPDR S&P 500 Trust ETF (SPY) iShares Core S&P 500 ETF (IVV) หรือ Vanguard S&P 500 ETF (VOO) สามกองทุนขนาดใหญ่ที่สุดที่ลงทุนตามดัชนี S&P 500 ในสหรัฐฯ
    • Invesco QQQ (QQQ) อ้างอิงดัชนี Nasdaq 100 รวมเกือบทุกหุ้นเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศสหรัฐฯ เช่น Apple Microsoft Alphabet (Google) Intel Facebook และ Tesla

    ETF ตราสารหนี้

    ETF ตราสารหนี้ จะลงทุนตามดัชนีตราสารหนี้ ซึ่งคุณสามารถเลือกได้ว่า ต้องการ ETF ตราสารหนี้ที่ครอบคลุมทั้งตลาด หรือตราสารหนี้ที่เฉพาะเจาะจงแต่ละอุตสาหกรรม

    คุณคงเคยได้ยินคำแนะนำที่ว่า ให้ลงตราสารหนี้เป็นส่วนหนึ่งของพอร์ต เพื่อลดความผันผวนของพอร์ตโดยรวม ทั้งยังได้รับดอกเบี้ยเป็นระยะๆ เป็น passive income อีกด้วย แต่แทนที่จะเลือกซื้อพันธบัตร หรือหุ้นกู้เป็นรายตัว คุณก็สามารถซื้อ ETF ตราสารหนี้ ที่เป็นตะกร้ารวมตราสารหนี้หลายๆ ประเภท มาจัดสมดุลพอร์ตให้ดียิ่งขึ้นได้

    นอกจากนี้ เนื่องจากตราสารหนี้ ทั้งพันธบัตรรัฐบาล และหุ้นกู้เอกชน นั้นไม่นิยมซื้อขายกันในตลาดรอง นักลงทุนมักจะถือจนถึงวันครบกำหนดไถ่ถอนของตราสารเพื่อผลตอบแทนสูงสุด ทำให้ตราสารหนี้มักประสบปัญหาสภาพคล่องต่ำ แต่ ETF ตราสารหนี้มีจุดเด่นตรงที่มีสภาพคล่องสูง ทั้งยังได้ดอกเบี้ยถี่กว่าตราสารหนี้ธรรมดา และยังได้ราคาที่โปร่งใสอีกด้วย

    ตัวอย่าง ETF ตราสารหนี้

    • ABFTH เป็น ETF กองแรกของไทยที่อ้างอิงกับดัชนีตราสารภาครัฐ iBoxx ABF Thailand Index ลงทุนในตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลไทย หรือออกโดยภาครัฐที่ได้เรตติ้งระดับ investment grade หรือมีรัฐบาลไทยเป็นผู้ค้ำประกัน หรือจะเป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยประเทศสมาชิก EMEAP (ความร่วมมือของกลุ่มธนาคารกลางในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก) ก็ได้
    • iShares Core U.S. Aggregate Bond ETF (AGG) อ้างอิงดัชนี Bloomberg Barclays U.S. Aggregate Bond Index รวมพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้คุณภาพดี (Investment Grade) ของสหรัฐฯ ที่มีระยะเวลาหมดอายุไม่ต่ำกว่า 1 ปี
    • iShares iBoxx $ Investment Grade Corporate Bond ETF (LQD) อ้างอิงดัชนี Markit iBoxx USD Liquid Investment Grade Index รวมหุ้นกู้คุณภาพดี (investment grade) ของสหรัฐฯ กว่า 1,000 หลักทรัพย์

    ETF สินค้าโภคภัณฑ์

    ETF สินค้าโภคภัณฑ์ คือ ETF ที่ลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น สินค้าเกษตร น้ำมัน หรือโลหะมีค่า โดยการซื้อสินค้าชนิดนั้นเก็บไว้ หรือซื้อสัญญาฟิวเจอร์สของสินค้าชนิดนั้น โดยไม่ได้มีสินค้าจริงๆ อยู่ในครอบครอง ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว ETF สินค้าโภคภัณฑ์จะเน้นลงทุนในอนุพันธ์หรือสัญญาฟิวเจอร์สเป็นหลัก เพื่อให้เข้าถึงตลาดของสินค้าโภคภัณฑ์แต่ละชนิดได้มากที่สุด ทั้งนี้ ก็ยังมี ETF บางกองที่ลงทุนตามดัชนีสินค้าโภคภัณฑ์ที่ประกอบไปด้วยสินค้าจริงๆ และสัญญาฟิวเจอร์ส

    การลงทุนใน ETF สินค้าโภคภัณฑ์เหมาะสำหรับนักลงทุนที่มองหาทางเลือกลงทุนอื่นนอกจากหุ้น อย่างไรก็ตาม แม้ความรู้ในการซื้อขายฟิวเจอร์สจะไม่จำเป็น แต่คุณก็ควรมีความรู้เกี่ยวกับการซื้อขายตราสารอนุพันธ์บ้าง เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้

    และถึงแม้คุณลงทุนใน ETF ที่ซื้อตัวสินค้าโภคภัณฑ์เก็บไว้จริงๆ ก็อาจจะต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่สูง ต่างจากการซื้อ ETF ทั่วไป เพราะมีค่าใช้จ่ายในการกักเก็บสินค้าและค่าเสื่อมเข้ามาเกี่ยวข้อง

    ตัวอย่าง ETF สินค้าโภคภัณฑ์

    • SPDR Gold Trust (GLD) เป็น ETF ที่ได้รับความนิยมอันดับต้นๆ ของโลก แม้แต่ GLD ในตลาดไทย ก็นำเงินไปลงทุนในกองทุน SPDR Gold Trust โดย SPDR จะซื้อทองคำแท่งเก็บไว้ในห้องนิรภัย และมูลค่าเงินลงทุนของคุณก็จะเพิ่มลดตามราคาทองคำแท่งนั้น ดังนั้น นโยบายลงทุนของ SPDR Gold Trust จึงเป็นการลงทุนในทองคำแท่งโดยตรง ไม่มีการใช้ตราสารอนุพันธ์ เน้นสร้างผลตอบแทนของกองทุนให้ใกล้เคียงกับผลตอบแทนราคาทองคำแท่งในตลาดลอนดอน
    • GreenHaven Continuous Commodity Index Fund (GCC) อ้างอิงดัชนี Continuous Commodity Index-Total Return (CCI-TR) ลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ 17 ประเภทในน้ำหนักเท่าๆ กัน มีตั้งแต่น้ำมัน ข้าวโพด แป้ง ถั่วเหลือง ไปจนถึง กาแฟ น้ำตาล และทอง
    • iShares S&P GSCI Commodity-Indexed Trust (GSG) อ้างอิงดัชนี S&P GSCI Total Return เป็น ETF ที่มีการลงทุนในตลาดฟิวเจอร์สซึ่งมีความผันผวนสูง กองทุนนี้ลงทุนอุตสาหกรรมพลังงาน ปศุสัตว์ เกษตรกรรม โลหะมีค่า และโลหะอุตสาหกรรม

    ETF เงินตราต่างประเทศ

    ETF เงินตราต่างประเทศ อ้างอิงกับค่าเงินของประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือตะกร้าที่รวมสกุลเงินหลายๆ ประเทศไว้ด้วยกัน ช่วยเพิ่มความสะดวกให้นักลงทุนที่สนใจลงทุนในตลาดฟอเร็กซ์ได้เป็นอย่างดี

    ตัวอย่าง ETF เงินตราต่างประเทศ

    • Invesco CurrencyShares Euro Currency Trust (FXE) อ้างอิงดัชนี WM/Reuters Euro Closing Spot Rate ที่ติดตามสถานะค่าเงินยูโรของ 19 ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป
    • WisdomTree Bloomberg U.S. Dollar Bullish Fund (USDU) อ้างอิงดัชนี Bloomberg Dollar Total Return Index และ Bloomberg Dollar Spot Index จุดประสงค์ของกองทุนนี้คือการสร้างผลกำไรให้ได้ดีมากกว่าดัชนีที่อ้างอิงจากการเพิ่มมูลค่าของเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ โดยลงทุนในตั๋วเงินคลังสหรัฐฯ ที่มีความเสี่ยงค่าเงิน
    • Proshares UltraShort Euro (EUO) อ้างอิง Bloomberg the EUR/USD Cross Rate เน้นทำกำไรระยะสั้นจากอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินยูโรกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เหมาะสำหรับนักลงทุนที่มีความรู้และสนใจสร้างผลกำไรจากค่าเงินยูโรที่อ่อนตัวลงเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์

    ETF อสังหาริมทรัพย์

    ETF อหังสาริมทรัพย์ เป็น ETF ที่อ้างอิงดัชนีหุ้นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ หรือกอง REIT หรือตราสารอนุพันธ์ที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ เป็นทางเลือกลงทุนอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้เงินลงทุนไม่สูงมาก มีสภาพคล่องสูง และมีโอกาสได้รับผลตอบแทนในลักษณะรายได้ประจำจากเงินปันผลอีกด้วย

    ETF ที่รวบรวมหลายๆ กอง REIT ไว้ใน ETF เดียวนั้นค่อนข้างเป็นที่นิยมในหมู่นักลงทุน เพราะแทนที่จะได้รับผลตอบแทนจากกอง REIT กองเดียว คุณจะได้รับผลตอบแทนจาก REIT หลายๆ กอง และอาจมีผลตอบแทนจากตราสารอนุพันธ์ของอสังหาริมทรัพย์เข้ามาเพิ่มเติมด้วย

    นอกจากนี้ ETF ส่วนใหญ่ที่ลงทุนใน REIT จะมีนโยบายบริหารจัดการแบบ passive ทำให้มีค่าบริหารจัดการต่ำ

    ตัวอย่าง ETF อสังหาริมทรัพย์

    • Vanguard Real Estate ETF (VNQ) อ้างอิงดัชนี MSCI US Investable Market Real Estate 25/50 Index ที่ติดตามบริษัทที่เป็นเจ้าของและบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐฯ โดยลงทุนแบบ passive ในกอง REIT
    • Schwab U.S. REIT ETF (SCHH) อ้างอิงดัชนี Dow Jones Equity All REIT Capped Index ที่สะท้อนการเคลื่อนไหวของกอง REIT สหรัฐฯ ที่ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่สร้างรายได้ และหลีกเลี่ยงกอง REIT ที่เข้ารับจำนองทรัพย์สินเพื่อหารายได้ (mortgage REIT) และกอง REIT ลูกผสม (hybrid REIT)
    • iShares U.S. Real Estate ETF (IYR) อ้างอิงดัชนี Dow Jones U.S. Real Estate Index ถือหุ้นที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ประมาณ 100 หุ้น

    ประเภทของ ETF แบ่งตามนโยบายบริหารจัดการ

    ETF แบบ Passive

    ETF ที่ซื้อหุ้นตามดัชนีอ้างอิงและปล่อยให้มูลค่าเงินลงทุนเติบโตไปเรื่อยๆ สร้างผลตอบแทนล้อไปกับดัชนีที่อ้างอิง จัดว่าเป็น ETF แบบ passive ทั้งหมด ซึ่งจะมีค่าธรรมเนียมต่ำ และโปร่งใสกว่า ETF ที่บริหารจัดการแบบ active เพราะนักลงทุนสามารถตรวจสอบได้เลยว่ากองทุนถือหลักทรัพย์อะไรอยู่บ้าง

    ตัวอย่าง ETF แบบ Passive

    • iShares MSCI China ETF (MCHI) ลงทุนอย่างน้อย 90% ในหุ้นประเทศจีน ตามดัชนี MSCI China Index ซึ่งเป็นดัชนีที่ครอบคลุมหุ้นขนาดใหญ่และขนาดกลางในตลาดทุนจีน รวมทั้งสิ้น 700 กว่าหุ้น
    • Schwab U.S. Large-Cap ETF (SCHX) อ้างอิงดัชนี Dow Jones U.S. Large-Cap Total Stock Market Index ซึ่งเป็นดัชนีหุ้นที่มีมูลค่าทางตลาดสูงที่สุดประมาณ 750 หุ้นของสหรัฐฯ
    • Invesco NASDAQ Internet ETF (PNQI) อ้างอิงดัชนี Nasdaq CTA Internet Index ลงทุนอย่างน้อย 90% ตามดัชนีและเน้นอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ตโดยตรง

    ETF แบบ Active

    ETF แบบ active เป็นกองทุน ETF มีนโยบายบริหารจัดการเหมือนกองทุนรวมแบบ active ซึ่งก็คือ มีผู้จัดการกองทุนคอยตัดสินใจว่าจะจัดสรรพอร์ตอย่างไร ซื้อขายหลักทรัพย์ตัวไหน และคอยปรับพอร์ตตามสถานการณ์ตลาด เพื่อเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนสูงกว่าดัชนีที่อ้างอิง แต่นักลงทุนก็ต้องรับภาระค่าธรรมเนียมที่ แม้จะต่ำกว่ากองทุนรวมแบบ active ก็ยังสูงกว่า ETF แบบ passive

    ตัวอย่าง ETF แบบ Active

    • WisdomTree Emerging Markets Local Debt Fund (ELD) อ้างอิงดัชนี JP Morgan GBI-EM Global Diversified Index Unhedged USD บริหารแบบ active เพื่อทำผลตอบแทนให้สูงที่สุด เน้นลงทุนพันธบัตร และบริษัทในตลาดเกิดใหม่ที่อิงค่าเงินของประเทศตัวเอง
    • AdvisorShares FolioBeyond Smart Core Bond ETF (FWDB) อ้างอิงดัชนี Bloomberg Barclays US Aggregate Bond Total Return USD เป็นกองทุนเน้นบริหารแบบ active วิเคราะห์ตราสารหนี้ 20 ประเภท โดยดูพื้นฐานมูลค่า แนวโน้ม ความสัมพันธ์ ความผันผวน เพื่อมาเป็นตัวช่วยในการคัดเลือก
    • SPDR SSGA Global Allocation ETF (GAL) อ้างอิงดัชนี MSCI ACWI IMI Index และ Bloomberg Barclays US Aggregate Index เป็นกองทุนแบบ active ที่เน้นการเติบโตของเงินต้น ลงทุนในหลากหลายทรัพย์สิน ทั้งในหุ้นสหรัฐฯ และหุ้นประเทศอื่นๆ ตราสารหนี้ สินค้าโภคภัณฑ์ และอสังหาริมทรัพย์

    ETF แบบ Smart Beta

    ETF แบบ Smart Beta เป็นลูกผสมระหว่าง ETF แบบ passive กับ ETF แบบ active เป็น ETF รูปแบบใหม่ที่นักลงทุนกำลังให้ความสนใจมากขึ้น เพราะแทนที่จะอ้างอิงดัชนีทั่วไปเหมือน ETF แบบ passive กองทุน ETF แบบ Smart Beta จะใช้ดัชนีเป็นพื้นฐาน และเพิ่มเกณฑ์คัดหุ้นเข้าตะกร้าอีกชั้นหนึ่ง และหลักทรัพย์ที่ผ่านเกณฑ์ ก็จะได้รับคัดเลือกเข้ามาอยู่ใน ETF

    เป้าหมายของ ETF แบบ Smart Beta ก็คือการเพิ่มผลตอบแทนให้ชนะดัชนีอ้างอิง โดยคำนึงถึงความเสี่ยง และค่าใช้จ่ายประกอบด้วย ดังนั้น นอกจากผลตอบแทนจะต้องดีแล้ว ยังต้องกระจายความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ลดความผันผวน และคิดค่าธรรมเนียมต่ำด้วย

    ตัวอย่าง ETF แบบ Smart Beta

    • Vanguard High Dividend Yield ETF (VYM) อ้างอิงดัชนี FTSE High Dividend Yield Index ที่คัดเลือกบริษัทในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่จ่ายปันผลสูง โดยดูจากคาดการณ์อัตราการจ่ายปันผลในอีก 12 เดือนข้างหน้า
    • iShares Edge MSCI USA Momentum Factor ETF (MTUM) อ้างอิงดัชนี MSCI USA Momentum Index ลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่และกลางในตลาดสหรัฐฯ ที่แนวโน้มราคาเป็นขาขึ้น
    • Invesco Russell 1000 Dynamic Multifactor ETF (OMFL) อ้างอิงดัชนี Russell 1000 Invesco Dynamic Multifactor Index ขั้นต่ำ 80% ของกองทุนจะลงทุนตามดัชนีและตามกฏเกณท์ที่ได้ตั้งไว้โดยการปรับน้ำหนักตามวงจรเศรษฐกิจและตลาด

    ประเภทของ ETF แบ่งตามระดับการกระจายความเสี่ยง

    ETF กระจายความเสี่ยงหลายประเทศ

    ETF ที่กระจายความเสี่ยงหลายประเทศ ก็คือ ETF ที่ลงทุนในดัชนีที่สะท้อนการเคลื่อนไหวของหลักทรัพย์ในหลายๆ ประเทศรวมกัน เช่น กลุ่มสหภาพยุโรป กลุ่มตลาดเกิดใหม่ (emerging market) กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (developed market) เป็นต้น

    ข้อดีของ ETF ที่กระจายความเสี่ยงหลายประเทศ คือ คุณไม่ต้องกังวลว่าประเทศใดประเทศหนึ่งเกิดวิกฤตหนักๆ แล้วจะทำให้พอร์ตเสียหายมาก เพราะยังมีอีกหลายประเทศช่วยพยุงไว้อยู่

    ตัวอย่าง ETF กระจายความเสี่ยงหลายประเทศ

    • Vanguard FTSE Developed Markets ETF (VEA) อ้างอิงดัชนี FTSE Developed All Cap Ex. US Index รวมหุ้นทั้งหมดในตลาดหลักทรัพย์ประเทศพัฒนาแล้วนอกเหนือจากสหรัฐฯ
    • Vanguard FTSE Emerging Markets ETF (VWO) อ้างอิงดัชนี FTSE Emerging Markets All Cap China A Inclusion Index รวมหุ้นทั้งหมดในตลาดหลักทรัพย์ประเทศกำลังพัฒนา เช่น จีน บราซิล ไต้หวัน และแอฟริกาใต้
    • iShares Global Healthcare ETF (IXJ) อ้างอิงดัชนี S&P Global 1200 Health Care Index ที่เป็นตัวแทนของ 108 บริษัททั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ในธุรกิจเภสัชกรรม เทคโนโลยีชีวภาพและเครื่องมือการแพทย์ที่กระจายอยู่ทั่วโลก เช่น บริษัท Johnson & Johnson บริษัท Pfizer และบริษัท Novartis
    • iShares Robotics and Artificial Intelligence Multisector ETF (IRBO) อ้างอิงดัชนี NYSE FactSet Global Robotics and Artificial Intelligence Index เน้นลงทุนในบริษัทขนาดใหญ่ที่ได้ประโยชน์จากการเติบโตของนวัตกรรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ ทั้งในตลาดประเทศพัฒนาแล้วและตลาดเกิดใหม่

    ETF กระจายความเสี่ยงภายในประเทศใดประเทศหนึ่ง

    ETF ที่กระจายความเสี่ยงในประเทศใดประเทศหนึ่ง คือ ETF ที่อ้างอิงดัชนีตลาดของหลักทรัพย์ภายในประเทศนั้นๆ เช่น ดัชนี S&P 500 ของหุ้นในตลาดสหรัฐฯ ดัชนี FTSE 100 ของหุ้นในตลาดลอนดอน และดัชนี Nikkei 225 ของหุ้นในตลาดญี่ปุ่น

    ข้อดีของ ETF กลุ่มนี้ก็คือ คุณจะได้กระจายความเสี่ยงในหลักทรัพย์หลากหลายอุตสาหกรรม แต่ก็ยังมีความเสี่ยงระดับประเทศอยู่

    ตัวอย่าง ETF ที่กระจายความเสี่ยงในประเทศใดประเทศหนึ่ง

    • TH100 และ BSET100 ลงทุนในหุ้นที่เป็นส่วนประกอบของดัชนี SET100
    • Vanguard Total Stock Market ETF (VTI) ที่อ้างอิงดัชนี CRSP US Total Market Index รวมหุ้นทั้งหมดในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ
    • WisdomTree India Earnings Fund ETF (EPI) ลงทุนอย่างน้อย 95% ตามดัชนี WisdomTree India Earnings Index ซึ่งเป็นตัวแทนของกว่า 300 บริษัททุกไซส์ทุกขนาดที่จดทะเบียนในตลาดอินเดีย

    ETF กระจายความเสี่ยงภายในอุตสาหกรรม หรือกลุ่มธุรกิจ

    ETF รายอุตสาหกรรม คือ ETF ที่ติดตามราคาดัชนีของเเต่ละอุตสาหกรรมหรือกลุ่มธุรกิจ สำหรับนักลงทุนที่ไม่ต้องการกระจายความเสี่ยงแบบกว้างๆ รับความผันผวนได้สูง และต้องการลงทุนเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่ตนเองเชื่อมั่นเท่านั้น เช่น กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยี กลุ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ช กลุ่มธุรกิจ e-sports เป็นต้น

    ตัวอย่าง ETF กระจายความเสี่ยงภายในอุตสาหกรรม

    • EBANK ลงทุนในหุ้นที่เป็นส่วนประกอบของดัชนีหมวดธุรกิจ SET Banking
    • WisdomTree Cloud Computing Fund (WCLD) อ้างอิงดัชนี BVP Nasdaq Emerging Cloud Index เพื่อรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมเติบโตสูงอย่างคลาวด์คอมพิวเตอร์ในตลาดหุ้น Nasdaq ของ สหรัฐฯ ที่รายได้หลักมาจากการพัฒนาซอฟต์แวร์ เช่น Zoom DocuSign และ Shopify
    • Global X Video Games & E-sports ETF (HERO) อ้างอิงดัชนี Solactive Video Games & Esports Index สะท้อนการเติบโตของ 40 หุ้นในวงการเกมและ e-sports ไม่ว่าจะเป็นบริษัทพัฒนาและจัดทำเกม, บริษัทที่มีส่วนร่วมในการ streaming และเผยแพร่เนื้อหาเกมหรือการแข่งขัน e-sports, บริษัทที่ผลิตอุปกรณ์สำหรับการแข่งขัน e-sports รวมไปถึงบริษัทที่เป็นเจ้าของหรือจัดการแข่งขันระหว่างทีม e-sports ต่างๆ

    ประเภทของ ETF แบ่งตามวิธีคัดเลือกหลักทรัพย์เพื่อลงทุน

    นักลงทุนแต่ละคนก็มักจะมีสไตล์การลงทุนเป็นของตนเอง บางคนชอบหุ้นเติบโต บางคนชอบหุ้นเน้นคุณค่า บางคนชอบหุ้นปันผล การลงทุนใน ETF ก็รองรับสไตล์ที่แตกต่างเหล่านี้ได้เช่นกัน

    ETF แบบเน้นเติบโต

    ETF ที่กรองหุ้นด้วยเกณฑ์การเติบโตอีกทีหนึ่ง เช่น ดูว่ากำไรของบริษัทต้องเติบโตมากกว่าค่าเฉลี่ยของบริษัททั้งหมดในตลาดหลักทรัพย์ จึงจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ ETF ได้ เป็นต้น

    ตัวอย่าง ETF แบบเน้นเติบโต

    • Vanguard Growth ETF (VUG) อ้างอิงดัชนี CRSP U.S. Large Cap Growth Index ซึ่งสะท้อนการเคลื่อนไหวของหุ้นขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ ที่เข้าเกณฑ์ 6 ข้อ ได้แต่ EPS คาดหวังระยะยาวเติบโต EPS คาดหวังระยะสั้นเติบโต EPS 3 ปีที่ผ่านมาเติบโต ยอดขายต่อหุ้น 3 ปีที่ผ่านมาเติบโต อัตราส่วนการลงทุนต่อสินทรัพย์อยู่ในเกณฑ์ดี และ ROA อยู่ในเกณฑ์ดี
    • iShares Russell 1000 Growth ETF (IWF) อ้างอิงดัชนี Russell 1000 Growth Index ที่ประกอบไปด้วยหุ้นขนาดใหญ่ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่มีโอกาสเติบโตสูง ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี
    • SPDR Portfolio S&P 500 Growth ETF (SPYG) อ้างอิงดัชนี S&P 500 Growth Index ติดตามหุ้นขนาดใหญ่ในตลาดสหรัฐฯ และเป็นส่วนหนึ่งของดัชนี S&P 500 ที่มีการเติบโตของยอดขายดี อัตราส่วนระหว่างการเติบโตของกำไรกับราคาหุ้นอยู่ในเกณฑ์เหมาะสม และมีโมเมนตัมที่ดี

    ETF แบบเน้นคุณค่า

    ETF ที่กรองหุ้นด้วยเกณฑ์การคัดเลือกแบบ value investing ซึ่งก็คือการหาธุรกิจที่ดีในราคาที่เหมาะสม หรือว่าต่ำกว่ามูลค่านั่นเอง

    ตัวอย่าง ETF แบบเน้นคุณค่า

    • Vanguard Value ETF (VTV) อ้างอิง CRSP U.S. Large Cap Value Index ซึ่งเป็นดัชนีหุ้นเน้นคุณค่าขนาดใหญ่ และมีขนาดกลางประปราย ในสหรัฐฯ โดยคัดหุ้นจากค่า P/B ค่า forward P/E ค่า P/E ในอดีต อัตราส่วนเงินปันผลต่อราคาหุ้น และอัตราส่วนยอดขายต่อราคาหุ้น
    • iShares Russell 1000 Value ETF (IWD) อ้างอิงดัชนี Russell 1000 Value Index ลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่และกลางในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่มีมูลค่าต่ำ (undervalued) เมื่อเทียบกับบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกัน และเน้นลงทุนในบางอุตสาหกรรมเป็นพิเศษ
    • First Trust Switzerland AlphaDEX Fund (FSZ) อ้างอิงดัชนี Nasdaq AlphaDEX Switzerland Index เป็นกองทุน ETF ที่คัดบริษัทที่มีพื้นฐานทางการเงินที่ดี

    ETF แบบเน้นปันผล

    ETF ที่กรองหุ้นด้วยเกณฑ์การคัดเลือกที่คำนึงถึงเงินปันผลเป็นสำคัญ เช่น บางกองเน้นที่ dividend yield หรือ อัตราการจ่ายเงินปันผลต่อกำไรต้องสูงๆ บางกองไม่ได้ดูแค่ dividend yield แต่ดูแนวโน้มการจ่ายเงินปันผลในอนาคตด้วย หลักทรัพย์ที่เข้าเกณฑ์ที่ตั้งไว้เท่านั้น จึงจะเป็นส่วนหนึ่งของ ETF

    ตัวอย่าง ETF แบบเน้นปันผล

    • 1DIV ลงทุนในหุ้นที่เป็นส่วนประกอบของดัชนี SET High Dividend
    • Proshares S&P 500 Dividend Aristocrats ETF (NOBL) อ้างอิงดัชนี S&P 500 Dividend Aristocrats ซึ่งเป็นหุ้นที่อยู่ในดัชนี S&P 500 แล้วกรองเอาเพียงบริษัทที่มีการจ่ายปันผลเพิ่มขึ้นทุกปี ใน 25 ปีที่ผ่านมา
    • Vanguard Dividend Appreciation ETF (VIG) อ้างอิงดัชนี Nasdaq U.S. Dividend Achievers Select Index ซึ่งเป็นดัชนีที่สะท้อนผลตอบแทนของหุ้นที่จ่ายเงินปันผลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

    ETF มีหลากหลาย ตอบโจทย์นักลงทุนทุกรูปแบบ

    ไม่ว่าคุณจะเป็นนักลงทุนแนวเน้นคุณค่า ชอบลงทุนทอง หรือต้องการเก็บเงินไว้ในตราสารหนี้ที่ความเสี่ยงต่ำ ETF เป็นเครื่องมือการลงทุนที่มีรูปแบบให้เลือกหลากหลายมาก ใช้เงินลงทุนเริ่มต้นต่ำ ค่าธรรมเนียมต่ำ มอบการกระจายความเสี่ยงที่ดี ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้พอร์ตของนักลงทุนมากประสบการณ์ก็ได้ หรือจะเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับคนที่เพิ่งสนใจลงทุนก็ได้

    อย่างไรก็ตาม ETF ยังเป็นการลงทุน มีความผันผวนตามสภาวะเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ความรู้พื้นฐานเรื่องการลงทุนจึงยังเป็นสิ่งสำคัญ การเลือก ETF ให้เหมาะสมกับเป้าหมายการลงทุนและความเสี่ยงที่ตนเองรับได้ จะช่วยให้การลงทุนของคุณเป็นไปอย่างราบรื่น และประสบความสำเร็จอย่างสบายใจที่สุด


    สนใจกระจายความเสี่ยง ลงทุนต่างประเทศผ่านกองทุน ETF ที่ลงทุนในสินทรัพย์คุณภาพดีทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นหุ้น หุ้นกู้เกรดดี และพันธบัตรรัฐบาล พร้อมจัดพอร์ตและปรับพอร์ตอัตโนมัติตามทฤษฎีรางวัลโนเบล เริ่มต้นเพียง 100,000 บาท ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.jittawealth.com/global-etf

    ลงทะเบียนรับความรู้การลงทุน passive

    รับความรู้การลงทุน passive ฟรี เพื่อเริ่มลงทุนอย่างสบายใจ กำไรอย่างยั่งยืน