Table of Content

บทนำ

กองทุน ETF คืออะไร ทำไม Berkshire ของบัฟเฟตต์ ยังต้องซื้อ

Monsicha Hoonsuwan

5 min read

  • 28 AUG 2020
  • Table of Content

    บทนำ

    ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 บริษัท Berkshire Hathaway ของวอร์เรน บัฟเฟตต์ ย่องเข้าซื้อกองทุน ETF อย่าง Vanguard S&P 500 ETF (VOO) เเละ SPDR S&P 500 ETF Trust (SPY) แบบเงียบๆ รวมมูลค่า $25 ล้าน

    ไม่มีใครรู้ ว่า Berkshire ซื้อกองทุน ETF ทั้ง 2 เมื่อไหร่ หรือเพราะอะไร

    แต่ที่แน่ๆ นี่เป็นข่าวใหญ่ เพราะเป็นครั้งเเรกที่ Berkshire ลงมาเล่นตลาด ETF!

    ราคากองทุน ETF SPDR SP 500 ETF Trust และ Vanguard SP500 ETF

    จู่ๆ ทำไมบริษัท Berkshire Hathaway ของวอร์เรน บัฟเฟตต์ ถึงมาซื้อกองทุน ETF ทั้งๆ ที่ปู่เคยบอกว่า การเอาเงินไปลงกองทุนแบบ ETF “อาจจะเป็นการจำกัดโอกาสการลงทุนของ Berkshire ก็ได้

    ก่อนจะตอบคำถามนี้ได้ เราต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า กองทุน ETF คืออะไร และมีจุดเด่นอย่างไรบ้าง

    กองทุน ETF คืออะไร

    ETF ย่อมาจาก Exchange Traded Funds หมายถึง กองทุนที่มีนโยบายลงทุนตามดัชนีต่างๆ เพื่อสร้างผลตอบเเทนใกล้เคียงการเคลื่อนไหวของดัชนีที่อ้างอิงมากที่สุด และสามารถซื้อขายหน่วยลงทุนในตลาดได้เหมือนหุ้น ประกอบไปด้วยคุณลักษณะสำคัญ 2 ประการ ดังนี้

    • กองทุนดัชนี กองทุน ETF แต่ละกองจะวิ่งตามดัชนีที่ตนเองใช้อ้างอิง เช่น กองทุน Vanguard S&P 500 ETF อ้างอิงดัชนี S&P 500 กองทุน iShares NASDAQ 100 ETF อ้างอิงดัชนี Nasdaq 100 เป็นต้น โดยกองทุน ETF ที่วิ่งตาม S&P 500 ดัชนีตลาดหุ้นที่ติดตามหุ้นบริษัทขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ 500 เเห่ง ก็จะซื้อหุ้นทุกตัวในดัชนี S&P 500 ในสัดส่วนเท่ากันกับที่อยู่ในดัชนี S&P 500 มีอยู่
    • จดทะเบียนซื้อขายบนตลาดหลักทรัพย์ คุณสามารถซื้อหน่วยลงทุนของกองทุน ETF ผ่านตลาดหุ้นได้เลย แต่แทนที่จะได้เป็นเจ้าของหุ้นใดหุ้นหนึ่ง คุณจะได้เป็นเจ้าของตะกร้าที่เต็มไปด้วยหุ้นมากมายหนึ่งตะกร้า หรือหากคุณซื้อกองทุน ETF ที่วิ่งตามดัชนีตราสารหนี้ คุณก็จะได้ตะกร้าตราสารหนี้มาหนึ่งตะกร้า

    พูดง่ายๆ ก็คือ กองทุน ETF นั้น ก็เหมือนลูกผสมระหว่างกองทุนรวมดัชนีกับหุ้นนั่นเอง

    กองทุน ETF คือลูกผสมระหว่างกองทุนรวมและหุ้น

    จุดเด่นของกองทุนดัชนี

    อย่างที่ได้อธิบายไปข้างต้น กองทุนดัชนีหรือ index fund คือ กองทุนที่ประมาณ 96% ของพอร์ตจะลงทุนในสินทรัพย์ตามดัชนีที่อ้างอิง เช่น SET 50 หรือ S&P 500 เพื่อสร้างผลตอบเเทนใกล้เคียงกับผลตอบแทนของดัชนีมากที่สุด

    สาเหตุที่กองทุนดัชนีได้รับความนิยมมากในปัจจุบันนั้น ไม่ใช่เพราะทำโฆษณาหรือการตลาดดี แต่เป็นเพราะคุณค่าที่กองทุนดัชนีมอบให้นักลงทุน ตอบโจทย์การลงทุนระยะยาวอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็น

    1. เงินงอกเงยไม่แพ้ตลาดในระยะยาว การลงทุนตามดัชนีเป็นการลงทุนที่เรียกว่า passive investing หรือการลงทุนเชิงรับ โดยนักลงทุนจะไม่เน้นซื้อๆ ขายๆ หุ้นหรือพยายามจับจังหวะ เพื่อพยายามเอาชนะตลาด (active investing) เพราะเชื่อว่า ยิ่งพยายามซื้อๆ ขายๆ มากเท่าไหร่ โอกาสที่ผลตอบแทนจะแพ้ตลาดก็ยิ่งเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งการซื้อๆ ขายๆ นี่เอง เป็นสาเหตุว่า ทำไม 90% ของนักลงทุน (รวมผู้จัดการกองทุนมืออาชีพด้วย) ถึงทำผลตอบแทนได้น้อยกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหุ้นในระยะยาว ในทางตรงกันข้าม หากคุณลงทุนในกองทุนดัชนีไปเรื่อยๆ โอกาสที่คุณจะได้ผลตอบแทนเหมือนดัชนีตลาด ที่เติบโตประมาณ 8%-10% ในระยะยาว ก็แทบจะแน่นอน ต่อให้คุณไม่มีความรู้เรื่องหุ้นรายตัว ไม่สามารถวิเคราะห์หุ้นเพื่อลงทุนด้วยตนเองเลยก็ตาม
    2. ค่าธรรมเนียมต่ำ นอกจากจะเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนดีๆ แบบไม่ต้องเหนื่อยแล้ว กองทุนดัชนียังมีค่าธรรมเนียมต่ำมาก เมื่อเปรียบเทียบกับกองทุนที่บริหารจัดการแบบ active กองทุนดัชนีมีค่าธรรมเนียมในการจัดการกองทุนต่ำ เพราะไม่ต้องมีนักวิเคราะห์เก่งๆ ค่าตัวเเพง ไม่ต้องเสียค่าเทรดเยอะ เพราะไม่ได้ซื้อขายบ่อย แค่ปรับพอร์ตบ้างบางครั้ง ให้เป็นไปตามดัชนีเท่านั้นเอง และค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้นมา แม้จะแค่ 1% ก็ทำให้ผลตอบแทนที่คุณควรจะได้ หายไปถึง 36.92% ใน 50 ปีเลยทีเดียว ดังนั้น ยิ่งค่าธรรมเนียมต่ำ กำไรที่คุณจะได้รับก็ยิ่งเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เงินเติบโตทบต้นได้มากขึ้นในระยะยาว
    3. กระจายความเสี่ยง เพราะแต่ละดัชนีจะประกอบไปด้วยหุ้น 30-50 หุ้นขึ้นไป เช่น S&P 500 ก็มีหุ้น 500 ตัว ดัชนี SET 100 ก็มีหุ้น 100 ตัว ทำให้ความผันผวนต่ำกว่าการเลือกซื้อหุ้นไม่กี่ตัว หากคุณไม่ซื้อกองทุนดัชนี แต่ไปซื้อหุ้นตามดัชนีเอง คุณก็อาจจะต้องใช้เงินก้อนจำนวนมากกว่าจะซื้อได้ครบทั้งหมด และต้องคอยปรับสัดส่วนของหุ้นแต่ละตัวให้ตรงตามสัดส่วนในดัชนี เพื่อให้ผลตอบแทนใกล้เคียงดัชนีที่สุด ไม่เกิด tracking error มากนัก หากทำไม่ได้ พอร์ตของคุณก็มีโอกาสทำผลตอบแทนแพ้ดัชนีตลาด

    จากกองทุนรวมดัชนี สู่กองทุน ETF

    นับตั้งแต่กองทุนรวมดัชนีกองแรกของโลก นามว่า First Index Investment Trust ที่อ้างอิงดัชนี S&P 500 ถูกจัดตั้งขึ้นโดยจอห์น โบเกิล ในปี 2518 และมีมูลค่าเพียง $11 ล้าน

    ผ่านมา 45 ปี กลายเป็นกองทุน Vanguard S&P 500 ที่มีมูลค่าถึง $4 แสนกว่าล้าน

    แสดงให้เห็นถึงความนิยมของกองทุนดัชนีแบบ passive ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เงินลงทุนไหลออกจากกองทุนแบบ active ถึง $185,000 ล้าน และไหลเข้ากองทุนแบบ passive ถึง $3.8 ล้านล้าน

    จากที่เคยครองสัดส่วนตลาดอยู่ถึง 78.3% ตอนนี้กองทุนที่บริหารจัดการแบบ active กินส่วนแบ่งตลาดเพียง 59% หากแนวโน้มยังเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ อีกไม่นาน กองทุน passive ก็จะขึ้นมาครองโลกแน่นอน

    เงินลงทุนสุทธิที่ไหลเข้าออกระหว่างกองทุนแบบ active และ กองทุนแบบ passive

    หลังจากโบเกิลได้พิสูจน์ให้ทั้งโลกเห็นแล้วว่า กองทุนรวมดัชนีของเขาที่เคยถูกปรามาสว่าเป็น “ความโง่เง่า” นั้น คือสิ่งที่นักลงทุนต้องการอย่างแท้จริง สถาบันการเงินต่างๆ ก็มองเห็นโอกาส ที่จะทำให้การซื้อขายกองทุนดัชนีสะดวกสบายมากขึ้นเพื่อมัดใจนักลงทุนรายย่อย

    เพราะกองทุนรวมดัชนีนั้น แม้จะค่าธรรมเนียมต่ำกว่ากองทุนรวมแบบ active ทั่วไป แต่ก็ไม่ถึงกับต่ำสุดๆ ซื้อขายไม่ทันใจ สภาพคล่องไม่ค่อยมี แถมหลายๆ กองก็มีกำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำ

    หลังลองผิดลองถูกอยู่เกือบ 20 ปี กองทุน SPDR S&P 500 ETF Trust ก็ถือกำเนิดขึ้นในปี 2536 เป็นกองทุน ETF กองแรก ที่ออกมาแล้วดังเป็นพลุแตก และยังคงได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน มีจำนวนการซื้อขายสูงเป็นอันดับต้นๆ และเป็นกองทุนเดียวกับที่ Berkshire Hathaway เพิ่งซื้อไป

    ปรากฏว่ากองทุน ETF กระแสตอบรับดียิ่งกว่ากองทุนรวมดัชนีเสียอีก เพราะซื้อขายสะดวกสบายมาก คุณเห็นราคาหุ้นอัปเดตแบบทันที และสามารถเข้าซื้อขายผ่านตลาดหุ้นได้เลย ไม่ต้องรออัปเดตราคาตอนสิ้นวัน

    ต่างจากกองทุนรวมดัชนี ที่คุณกำหนดราคาหรือเวลาที่จะซื้อไม่ได้ เพราะในความเป็นจริงแล้ว เมื่อคุณซื้อกองทุนรวม ผู้จัดการกองทุนไม่ได้นำเงินคุณไปลงทุนโดยทันที แต่จะต้องรอสิ้นวันตอนตลาดใกล้ปิด ราคาที่คุณซื้อก็จะเป็นราคาเดียวกับคนอื่นๆ ที่ซื้อกองทุนในวันเดียวกัน แม้คุณจะกะจังหวะซื้อตอนราคาตกก็ตาม

    ความแตกต่างระหว่างกองทุนรวม หุ้น และกองทุน ETF

    นอกจากนี้ กองทุน ETF ยังมีค่าธรรมเนียมต่ำกว่ากองทุนรวมดัชนี ทำให้เมื่อเปรียบเทียบกันระหว่างกองทุนรวมดัชนีที่อ้างอิง S&P 500 และกองทุน ETF ที่อ้างอิง S&P 500 คุณจะเห็นได้ชัดเจนว่ากองทุน ETF ทำผลตอบแทนได้ใกล้เคียงดัชนีตลาดมากกว่า

    ผลตอบแทนกองทุน ETF เทียบกับดัชนี และกองทุนรวมดัชนี

    ปัจจุบัน มีกองทุน ETF ทั่วโลกเกือบ 7,000 กองทุน และไม่ได้อ้างอิงแค่ดัชนีตลาดหุ้นเท่านั้น แต่ยังอ้างอิงดัชนีอื่นๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นดัชนีพันธบัตรรัฐบาล ดัชนีหุ้นกู้ ดัชนีทองคำ และดัชนีน้ำมัน เป็นต้น

    เป็นตัวเลือกการลงทุนที่หลากหลาย เลือกได้ตามที่คุณต้องการ ทั้งยังซื้อขายสะดวก ค่าธรรมเนียมต่ำ และมาพร้อมการกระจายความเสี่ยงในตัว ช่วยเพิ่มโอกาสให้คุณสร้างผลตอบแทนดีตามการเติบโตของตลาด แม้จะไม่ได้เป็นกูรูด้านการลงทุนก็ตาม

    วอร์เรน บัฟเฟตต์ แนะนำทุกคนลงทุนตามดัชนี

    อย่าว่าแต่นักลงทุนทั่วไปเลย ที่ชื่นชอบการลงทุนแบบ passive ตามดัชนี

    แม้แต่นักลงทุนระดับเซียนอย่างวอร์เรน บัฟเฟตต์ ก็ยังเป็นแฟนตัวยง ถึงขนาดแนะนำทุกคนให้ซื้อกองทุนดัชนี และท้าพนันกองทุนเฮดจ์ฟันด์ เพื่อพิสูจน์ว่ากองทุนดัชนีที่ลงทุนแบบ passive ยังไงก็ต้องทำผลตอบแทนชนะกองทุนแบบ active ในระยะยาว

    ซี่งผลก็เป็นไปตามที่คาด กองทุนดัชนีให้ผลตอบแทนสูงกว่าที่กองทุนเฮดจ์ฟันด์ทำได้ในระยะยาวจริงๆ

    เพราะปู่ตระหนักดีว่า การลงทุนแบบที่ตนเองถนัดนั้น ต้องอาศัยความรู้และประสบการณ์ในการวิเคราะห์ธุรกิจและลงทุนในหุ้นรายตัวค่อนข้างมาก ทั้งยังต้องอดทน มีวินัย เเละบริหารจัดการความเสี่ยงให้เป็น ถึงจะประสบความสำเร็จได้

    ซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนทั่วไปปฏิบัติตามได้ยาก

    ปู่บัฟเฟตต์จึงมองว่า กองทุนดัชนีที่ซื้อหุ้นเป็นตะกร้า เช่น ETF และกองทุนรวมดัชนี จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดรองลงมา สำหรับนักลงทุนทั่วไปที่ต้องการเพิ่มพูนมูลค่าทรัพย์สินของตนเองในระยะยาว

    เพราะกองทุนเหล่านี้ อย่างไรก็ต้องเติบโตตามดัชนีตลาดในระยะยาว จึงเป็นทางเลือกที่ลดโอกาสทำ “พลาด” จนขาดทุนถาวร นอกจากนี้ยังกระจายความเสี่ยงให้เรียบร้อย และค่าธรรมเนียมต่ำ นักลงทุนไม่ต้องคิดอะไรเยอะก็ลงทุนได้แล้ว

    แต่ปู่บัฟเฟตต์ก็เสริมว่า การซื้อกองทุนดัชนีนั้น นักลงทุนควรจะทยอยใส่เงินเข้าไปเรื่อยๆ ดีกว่า “ผมซื้อ S&P 500 ได้นะ แต่ต้องไม่ใส่เงินก้อนเข้าไปทีเดียว” บัฟเฟตต์กล่าวในปี 2545

    เหตุผลก็เพราะ การซื้อกองทุนดัชนีนั้น ก็เหมือนว่า คุณรู้ว่าโดยรวมแล้ว เศรษฐกิจและธุรกิจจะเติบโตดีในระยะยาว แต่คุณไม่รู้ว่าธุรกิจไหนจะเติบโต และก็ไม่รู้ว่าเวลาไหนคือจังหวะที่ควรลงทุน เพราะฉะนั้น สิ่งที่ดีที่สุดที่คุณทำได้ก็คือ ไม่ต้องพยายามหาคำตอบ ตัดความรู้สึกและความหวังออกไป ลงทุนไปเรื่อยๆ อย่างสม่ำเสมอก็พอ

    ทำไม Berkshire จึงไม่ซื้อกองทุนดัชนี ETF ตั้งแต่แรก

    เคยมีคนถามจี้ใจดำบัฟเฟตต์ในงานประชุมผู้ถือหุ้นว่า

    ถ้า 15 ปีที่ผ่านมา Berkshire เปลี่ยนจากเก็บเงินสดและซื้อตราสารหนี้ระยะสั้น ไปลงกองทุนดัชนี แต่ยังเก็บเงินสดสำรองไว้ $2 หมื่นล้าน จนถึงปลายปี 2561 Berkshire ก็คงจะมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเป็น 1.55 แสนล้านเหรียญ คิดเป็นค่าเสียโอกาสมากกว่า 12% ของมูลค่าทางบัญชีของ Berkshire เลยทีเดียว

    บัฟเฟตต์ก็ชี้แจงเหตุผลไว้อย่างละเอียด ว่าสำหรับบริษัทอย่าง Berkshire นั้น จำเป็นต้องเก็บเงินสดจำนวนมากไว้ เผื่อโอกาสการลงทุนดีๆ มาโดยไม่คาดฝัน

    เช่น ตอนวิกฤตการเงินแฮมเบอร์เกอร์ ที่ Berkshire ได้รับโอกาสที่ดีมากๆ ในการลงทุนในหุ้นบุริมสิทธิของ Goldman Sachs สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ ที่จ่ายเงินปันผลสูงถึง 10%

    หรือโอกาสเข้าซื้อหุ้นบุริมสิทธิของ Occidental Petroleum ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงาน เพื่อจะได้ไปยื่นข้อเสนอซื้อกิจการ Anadarko Petroleum และกันไม่ให้กิจการคู่แข่งอย่าง Chevron ได้ไป โดยปู่จะได้เงินปันผลสูงถึง 8%

    “เงินทุนของ Berkshire ควรนำไปลงทุนในโอกาสเหล่านี้มากกว่า ซึ่งเป็นโอกาสที่เข้ามาแบบไม่สามารถคาดเดาได้ และมักจะต้องใช้เงินก้อนใหญ่” บัฟเฟตต์กล่าว

    ETF ตอบโจทย์การลงทุนของ Berkshire

    แม้พอร์ตลงทุนหลักของ Berkshire จะต้องมีเงินสดสำรองไว้เผื่อโอกาสการลงทุนดีๆ ที่เข้ามาแบบไม่รู้ตัว ทำให้ไม่สามารถลงทุนในกองทุนดัชนีได้

    แต่ก็ยังมีกองทุนเพื่อการเกษียณที่ Berkshire ดูแลอยู่ และมองว่าเหมาะกับการลงทุนในกองทุนดัชนีเป็นอย่างมาก ซึ่งก็คือเงินจำนวน $25 ล้าน ที่นำไปซื้อกองทุน ETF อย่าง Vanguard S&P 500 ETF เเละ SPDR S&P 500 ETF Trust นั่นเอง

    นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า สาเหตุที่ Berkshire เลือกซื้อกองทุน ETF นั้น ไม่ใช่แค่เพราะค่าธรรมเนียมต่ำอย่างเดียว แต่ยังเป็นการลด cash drag ซึ่งก็คือ การถือเงินสดไว้ไม่ยอมลงทุน ทำให้เงินส่วนนั้นไม่สร้างผลตอบเเทนหรือให้ผลตอบเเทนที่ติดลบเนื่องจากเงินเฟ้อ

    การซื้อกองทุนดัชนีที่ลงทุนใน S&P 500 จึงน่าจะลดผลกระทบของ cash drag ในระหว่างที่ปู่เฟ้นหาหุ้นธุรกิจน่าลงทุนไปได้พอสมควร

    ในขณะเดียวกัน ก็มอบความยืดหยุ่นให้กับการลงทุน เพราะ Berkshire สามารถขายกองทุน ETF เพื่อนำเงินสดจำนวนดังกล่าวไปลงทุนกับโอกาสที่ดีกว่าได้อย่างรวดเร็ว ไม่ยุ่งยาก

    กองทุน ETF จึงเป็นมากกว่าเครื่องมือลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสมเหตุสมผล ไม่แพ้ตลาด เพราะมอบทั้งการกระจายความเสี่ยงที่ดี และความยืดหยุ่น ซื้อขายได้ทันใจ เป็นได้ทั้งที่พักเงิน สำหรับคนที่ยังหาโอกาสการลงทุนที่ถูกใจไม่เจอ และเครื่องมือลงทุนระยะยาว ของคนที่ต้องการลงทุนอย่างสบายใจ


    สนใจกระจายความเสี่ยง ลงทุนต่างประเทศผ่านกองทุน ETF ที่ลงทุนในสินทรัพย์คุณภาพดีทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นหุ้น หุ้นกู้เกรดดี และพันธบัตรรัฐบาล พร้อมจัดพอร์ตและปรับพอร์ตอัตโนมัติตามทฤษฎีรางวัลโนเบล เริ่มต้นเพียง 100,000 บาท ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.jittawealth.com/global-etf

    ลงทะเบียนรับความรู้การลงทุน passive

    รับความรู้การลงทุน passive ฟรี เพื่อเริ่มลงทุนอย่างสบายใจ กำไรอย่างยั่งยืน