Table of Content

บทนำ

ทำไมคนถึงขาดทุนจากตลาดหุ้น

Trawut Luangsomboon

5 min read

  • 3 OCT 2019
  • Table of Content

    บทนำ

    หลังจากลงทุนในตลาดหุ้น ทุกคนคงคาดหวังให้เงินที่ลงทุนเติบโต สร้างความมั่งคั่งร่ำรวยให้ตนเอง แต่บางคนกลับขาดทุนมหาศาล หรือบางครั้งอาจถึงขั้นหมดเนื้อหมดตัวจากตลาดหุ้นเลยก็เป็นได้

    ทั้งๆ ที่เคล็ดลับในการสร้างผลตอบแทนจากตลาดหุ้นก็ชัดเจนและง่ายมากๆ เพียงแค่

    1. ลงทุนในหุ้นทั้งตลาด
    2. เพิ่มเงินลงทุนทุกๆ ปี
    3. นำเงินปันผลกลับไปลงทุนต่อ
    4. ถือครองการลงทุนระยะยาว 3 ปีขึ้น

    แค่ลงทุนตามหลักการนี้ในตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ปี 2518 ถึง 2560 ผลตอบแทนทบต้นที่จะได้รับ คือ 11.87% ต่อปี   ลองคิดว่าเริ่มต้นลงทุนที่ 10,000 บาท เงินจะเติบโตมากขึ้น 124 เท่า กลายเป็นเงิน 1,243,314 บาท ในเวลา 43 ปี

    และจะน่าทึ่งกว่า ถ้าเพิ่มเงินลงทุนไปเรื่อยๆ อีก 10,000 บาท ทุกๆ ปี เงินลงทุนตอนสิ้นปี 2560 จะเพิ่มมูลค่าเป็น 10,456,993 บาท ได้อย่างน่าอัศจรรย์

    ง่ายขนาดนี้ แล้วเกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงมีคนขาดทุนจากตลาดหุ้นมากมาย


    ทำไมลงทุนแล้วขาดทุน

    สาเหตุหลักเป็นเพราะว่า คนส่วนมากหวังจะรวยเร็วจากตลาดหุ้น เลยไม่พอใจกับการได้ผลตอบแทน 10% ต่อปี จากการเติบโตที่แท้จริงของธุรกิจ แต่ฝันถึงการทำกำไรได้ 50% หรือ 100% ต่อปี โดย “เก็งกำไร” จากราคาหุ้นที่ขึ้นลงรายวันแทน

    นักลงทุนจะพยายามหาวิธีทำเงินให้มาก ด้วยการขายหุ้นตัวนั้น มาซื้อหุ้นตัวนี้ หรือเรียกกว่า เล่นรอบ ด้วยความเชื่อที่ว่า ถ้า “ซื้อถูก ขายแพง” แบบนี้ไปเรื่อยๆ ครั้งหนึ่งได้กำไร 5% ทำได้เดือนละครั้ง ก็ได้เงิน 60% ต่อปีแล้ว

    รู้หรือไม่ว่า ยิ่งซื้อขายหุ้นบ่อยเท่าไหร่ ผลตอบแทนในระยะยาวยิ่งน้อยลงเท่านั้น

    แต่น่าเหลือเชื่อ ตามสถิติแล้วพบว่า 90% ของนักลงทุน (รวมผู้จัดการกองทุนมืออาชีพด้วย) ทำผลตอบแทนได้แย่กว่าผลตอบแทนตลาดหุ้นในระยะยาว ทั้งๆ ที่หาวิธีการต่างๆ เพื่อทำผลตอบแทนให้ได้มากกว่า 10% ท้ายที่สุดกลับได้น้อยกว่า หรือขาดทุนจนหมดตัวครับ


    ทำไมในระยะยาว เก็งกำไรแล้ว ผลตอบแทนยังแพ้ผลตอบแทนของตลาดหุ้น

    ต้องเข้าใจก่อนว่า ในระยะยาวผลตอบแทนจากตลาดหุ้นนั้น จะมาจากการเติบโตของกำไรและเงินปันผล ของแต่ละบริษัทในตลาดหุ้นรวมกัน ถ้าถือลงทุนไปเรื่อยๆ ไม่มีการซื้อขายหุ้นื ทุกคนก็จะได้รับผลตอบแทนเท่าๆกันที่ 11.87% ต่อปีทบต้นไปเรื่อยๆ เงินเติบโตขึ้นทุกปี โดยที่ไม่มีความผันผวนอะไร

    แต่ความเป็นจริง มีคนจำนวนมากพยายามเก็งกำไรจากราคาหุ้นขึ้นลงรายวัน โดยที่ไม่อิงกับพื้นฐานของธุรกิจตามความเป็นจริง ทำให้ในระยะสั้นๆ รายวัน รายเดือน หรือ กระทั่งรายปี ผลตอบแทนของแต่ละหุ้น หรือ ของตลาดโดยรวม มีการผิดเพี้ยนจากพื้นฐานของธุรกิจได้ ซึ่งนั่นก็คือ ความผันผวนของตลาดหุ้นที่แกว่งไปแกว่งมานั่นเอง

    ลองนำภาพผลตอบแทนที่เกิดขึ้นในอุดมคติ มาเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ก็จะเห็นภาพดังนี้

    ในระยะสั้นๆ ถึงแม้ว่าผลตอบแทนของตลาดหุ้นจะแกว่งขึ้นลงยังไงก็ตาม สุดท้ายแล้วในระยะยาว ผลตอบแทนจะต้องกลับมาเท่ากับ การเติบโตของกำไร+เงินปันผล โดยรวมของแต่ละบริษัทเสมอๆ ครับ

    “ในระยะสั้น ตลาดหุ้นเหมือนเครื่องลงคะแนนเสียง แต่ในระยะยาว ตลาดหุ้นเหมือนเครื่องชั่งน้ำหนัก”

    — เบนจามิน เกรแฮม

    การเก็งกำไรในตลาดหุ้น หรือผลตอบแทนส่วนที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงจากผลตอบแทนที่แท้จริงของตลาดหุ้น เป็นเกมศูนย์ (Zero Sum Game) หมายถึงว่า ถ้ามีคนนึงขายหุ้น ก็ต้องมีคนนึงซื้อหุ้น และเมื่อมีคนนึงได้กำไร อีกคนก็ต้องขาดทุนเสมอครับ

    เพื่อให้เข้าใจมากขึ้น ลองสมมุติสถานการณ์ในตลาดหุ้นไทยว่า มีนักลงทุนอยู่ทั้งหมด 300 คน ถ้าทุกคนลงทุนเสมือนเป็นเจ้าของธุรกิจถือครองหุ้นทั้งตลาดไปเรื่อยๆ ปล่อยให้เงินเติบโตไปตามกำไรและปันผลของธุรกิจ ทุกคนก็จะได้รับผลตอบแทน 11.87% ต่อปีเท่าๆกัน

    แต่จู่ๆ มี 200 คน กลับคิดว่าตนเองน่าจะลงทุนเก่งกว่าคนอื่น วิเคราะห์หุ้นได้ดีกว่า จับจังหวะราคาหุ้นได้ดีกว่า ต้องทำกำไรได้มากกว่าคนอื่นๆ แน่นอน จึงเปลี่ยนมาทำการจับจังหวะ ซื้อขายหุ้นรายตัวกันเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ จะต้องมีคนที่ได้กำไรและคนที่ขาดทุนเสมอ ไม่ว่าจะเก่งขนาดไหนก็ตาม ก็ต้องมีคนที่ขาดทุน

    เนื่องจากผลตอบแทนตามจริงของตลาดหุ้นคือ 11.87% ต่อปี ดังนั้นคิดง่ายๆ ว่า 200 คน จะต้องมี 100 คน ที่ได้ผลตอบแทนมากกว่า 11.87% ต่อปี และ 100 คนที่ได้ผลตอบแทนน้อยกว่า 11.87% ต่อปี

    เพียงแค่เปลี่ยนจากการถือหุ้นลงทุนไปเรื่อยๆ ระยะยาว แล้วหันมาทำการเก็งกำไรและซื้อขายหุ้นมากขึ้น โอกาสที่จะได้ผลตอบแทนน้อยกว่าเดิมก็รออยู่ครึ่งนึง

    แต่ความเป็นจริงแล้ว มีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนน้อยกว่าเดิมหรือขาดทุน มากกว่าครึ่งหนึ่งอีกครับ ตามปู่วอร์เรน บัฟเฟตต์ กล่าวไว้ว่า “The Greatest Enemies of Equity investors are Expenses and Emotions”

    “ศัตรูที่ยิ่งใหญ่ของนักลงทุนในหุ้น ก็คือค่าใช้จ่ายและอารมณ์”

    — วอร์เรน บัฟเฟตต์

    “ค่าใช้จ่าย” และ “อารมณ์” คือ 2 สาเหตุหลัก มีส่วนสำคัญให้นักลงทุนที่พยายามจะทำการซื้อขายกันเอง เช่น 200 คนนี้ ที่เฉลี่ยแล้ว ทำผลตอบแทนได้แย่ลงกว่าเดิม บางคนอาจขาดทุนหนักจนหมดตัวจากตลาดหุ้นได้ด้วยซ้ำ


    อารมณ์ VS การลงทุน

    เนื่องจากการลงทุนต้องใช้ทักษะวิเคราะห์เชิงเหตุและผลสูงมาก ทั้งสภาพเศรษฐกิจ พื้นฐานธุรกิจ วิเคราะห์เชิงตัวเลข วิเคราะห์เชิงคุณภาพ การคาดการณ์ความน่าจะเป็นในอนาคต และอื่นๆ

    ไม่มีทางที่ว่านักลงทุนจะมีทักษะการลงทุนเท่าๆ กัน ดังนั้นคนที่มีทักษะเหล่านี้มากกว่า ก็จะสามารถลงทุนได้ผลตอบแทนดีกว่า คนที่ซื้อขายหุ้นตาม “อารมณ์” อย่างเดียวโดยไม่มีการวิเคราะห์ใดๆ

    ข้อผิดพลาดของการลงทุนโดยใช้ “อารมณ์”

    • ซื้อหุ้นตามข่าว ตามเพื่อนบอก โดยไม่เคยรู้จักธุรกิจจริงๆ
    • กระจายความเสี่ยงไม่เป็น ทำให้พอร์ตขาดทุนหนัก
    • หุ้นกำไรนิดหน่อยขาย หุ้นขาดทุนเยอะๆ ยังเก็บไว้
    • หุ้นที่กำไร กำไรนิดเดียว หุ้นที่ขาดทุน ขาดทุนหนักมาก
    • ไม่กล้าลงทุนตอนหุ้นดีๆ ราคาลดลงมา เพราะกลัวราคาจะลงมาอีก
    • รอซื้อหุ้นตอนราคาสูงๆ แล้ว เพราะกลัวจะขึ้นไปอีก
    • และอื่นๆ

    ข้อผิดพลาดเหล่านี้เอง ที่ส่งผลให้ผลตอบแทนของคนกลุ่มนี้ ได้ผลตอยแทนต่ำกว่าตลาด หรือบางคนอาจขาดทุนหมดตัวจากตลาดหุ้นได้เลยครับ

    ถ้าลองประมาณตัวเลขแบบง่ายๆ ในมุมมองของผมเอง ก็จะขอแบ่ง 200 คนนี้ออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มละ 50 คน หรือ 25% ตามทักษะการลงทุน โดยกลุ่มที่ 1 คือ กลุ่มที่มีทักษะการลงทุนสูงสุด และ กลุ่มที่ 4 คือ กลุ่มที่ใช้อารมณ์ในการลงทุนมากสุด ผลตอบแทนของแต่ละกลุ่มจะเป็นดังต่อไปนี้

    • กลุ่มที่ 1 : ทำผลตอบแทนได้ 12% – 20% ต่อปี
    • กลุ่มที่ 2 : ทำผลตอบแทนได้ 6% – 12% ต่อปี
    • กลุ่มที่ 3 : ทำผลตอบแทนได้ 0% – 6% ต่อปี
    • กลุ่มที่ 4 : ขาดทุน

    กลุ่มที่ 1 ที่ใช้ช่วงผลตอบแทนเป็น 12% – 20% เพราะคือ กลุ่มที่ชนะตลาดหุ้นไทยได้ เลยต้องมีผลตอบแทนมากกว่า 11.87% และให้สูงสุดที่ 20% ต่อปี เทียบเท่ากับสถิติที่ปู่ Warren Buffett ทำได้ครับ (ต้องเป็นคนที่ลงทุนเก่งมากๆ เลยทีเดียว ถึงจะทำได้เท่ากับคุณปู่ครับ)

    ดังนั้นจะเห็นว่า ถ้าคุณไม่ได้มีทักษะการลงทุนที่ยอดเยี่ยมจริงๆ การพยายามเข้ามาซื้อขายหุ้นด้วยตนเองมากๆ คือความเสี่ยงอย่างที่สุด เพราะจาก 200 คน จะมีคนที่ลงทุนได้ผลตอบแทนมากกว่าตลาดหุ้นอยู่แค่ 50 คน คิดเป็น 25% เท่านั้น อีก 75% ทำผลตอบแทนได้แย่กว่าการนั่งอยู่เฉยๆ และลงทุนทั้งตลาดเสียอีกครับ


    ค่าใช้จ่าย VS การลงทุน

    เพราะในการลงทุนต้องมี “ต้นทุน” แฝงอยู่ด้วยเสมอ นั้นก็คือ ค่าคอมมิชชั่นที่ต้องจ่ายให้กับบริษัทหลักทรัพย์ทุกครั้งที่ทำการซื้อขายหุ้น โดยเฉลี่ยแล้วจะอยู่ที่ 0.25% ของมูลค่าการซื้อหรือขายแต่ละครั้ง

    ดังนั้นถ้าในแต่ละปี มีการซื้อขายหุ้น 4 รอบ (8 ครั้ง) ก็จะต้องเสีย ค่าคอมมิชชั่นในการซื้อขายหุ้นราวๆ 2% แล้วครับ ถ้าคุณทำผลตอบแทนได้แค่ 12% ต่อปี พอหักค่าคอมมิชชั่นตรงนี้ไปแล้ว ผลตอบแทนก็จะเหลือแค่ 10% ต่อปีเท่านั้น ซึ่งทำให้ผลตอบแทนน้อยกว่าตลาดหุ้นทันทีครับ

    หลายๆ คนที่มีการเก็งกำไรกันมากๆ อาจจะซื้อขายหุ้นกันปีนึงอย่างต่ำเป็น 10 รอบ คิดเป็นค่าคอมมิชชั่นราวๆ 5% เลยทีเดียว เท่ากับว่าถ้าซื้อขายบ่อยขนาดนี้ ต้องทำผลตอบแทนได้ประมาณ 17% ต่อปี ก่อนหักค่าคอมมิชชั่นเพื่อให้ได้ผลตอบแทนสุทธิชนะตลาดหุ้น ที่ 12% ต่อปี

    เมื่อรวมเรื่อง “ค่าใช้จ่าย” เข้าไปด้วย นักลงทุนกลุ่มที่ 1 ที่ทำผลตอบแทนได้ 12% – 20% ต่อปี จำนวน 50 คนนั้น หักกับค่าคอมมิชชั่นเหล่านี้ไปแล้ว ก็จะเหลือแค่ประมาณ 20 คน ที่สามารถทำผลตอบแทนได้สูงกว่าตลาดหุ้นครับ


    เมื่อตลาดหุ้นเกิดการเก็งกำไร ก็จะมี “อารมณ์” และ “ค่าใช้จ่าย” เพิ่มขึ้นตามมาด้วยเสมอ

    สุดท้ายแล้ว จาก 200 คน จะเหลือเพียงแค่ 20 คนเท่านั้น ที่สามารถทำผลตอบแทนสุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายต่างๆได้มากกว่า 11.87% ต่อปี คิดเป็นแค่ 10% ของคนทั้งหมดที่ตัดสินใจไปซื้อขายหุ้นเก็งกำไรกันครับ

    ในขณะที่อีก 100 คน ที่ไม่ได้เข้าไปร่วมซื้อขายเก็งกำไรหุ้นรายตัวด้วยนั้น กลับสามารถทำผลตอบแทนได้คนละ 11.87% ต่อปี เท่ากับว่าการถือครองหุ้นอยู่เฉยๆ ตามหลักการลงทุนที่ถูกต้อง สามารถทำผลตอบแทนได้ดีกว่าคนอีก 90% ที่พยายามจะซื้อขายหุ้นกันไปมา

    ซึ่งอย่างที่บอกตอนแรก 90% ของนักลงทุนนี้ รวมถึงผู้จัดการกองทุนมืออาชีพด้วยครับ เพราะผู้จัดการกองทุนเอง ก็ไม่สามารถหลีกหนีหลักการเรื่องเกมศูนย์ อารมณ์ และค่าใช้จ่ายได้ครับ ถ้า 200 คนนั้น มีผู้จัดการกองทุนที่พยายามแข่งขันกันทำผลตอบแทน จึงต้องซื้อๆ ขายๆ หุ้นกันเอง สุดท้ายแล้ว สถิติก็จะออกมาแบบเดียวกันครับ หรืออาจจะแย่กว่าด้วยซ้ำ เพราะกองทุนจะมีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการเพิ่มขึ้นมาด้วยอีกส่วนนึงครับ

    ลองถามตัวคณเองครับ ว่าอยากเป็นคนกลุ่มไหน กลุ่มที่สร้างผลตอบแทนสบายๆ ที่ 11.87% ต่อปี โดยไม่ต้องทำอะไร หรือต้องการจะเสี่ยงลงทุนด้วยตนเอง ที่มีโอกาสแค่ 1 ใน 10 ที่จะได้ผลตอบแทนมากกว่า 11.87% ต่อปี และมีโอกาสถึง 1 ใน 4 ที่จะขาดทุนได้ครับ

    สำหรับคนทั่วไป ที่ไม่ได้มีทักษะการลงทุนที่สูง ถ้าต้องการลงทุนให้เงินเติบโต สร้างความมั่งคั่งจากตลาดหุ้นได้ชัวร์ๆ ก็คือ การลงทุนในกองทุนดัชนี หรือ กองทุนแนว QVI แบบ Jitta Wealth ครับ

    เพราะทั้งกองทุนดัชนี และ Jitta Wealth นั้น ทำการตัด “อารมณ์” ออกไปเรียบร้อยแล้วครับ สิ่งที่ทั้งสองกองทุนทำคือ การเลือกธุรกิจที่ดีและปล่อยให้เงินลงทุนเติบโตไปตามการเติบโตของธุรกิจและปันผล มีการกระจายความเสี่ยง และการปรับพอร์ตอย่างเป็นระบบตามหลักการให้เรียบร้อย

    ในส่วนของ “ค่าใช้จ่าย” นั้น กองทุนดัชนี และกองทุน Jitta Wealth ก็จะต่ำกว่าปกติ เพราะมีการซื้อขายหุ้นน้อยมาก อย่างของ Jitta Wealth เองก็มีการปรับพอร์ตแค่ปีละครั้ง ทำให้ไม่เสียค่าคอมมิชชั่นการซื้อขายหุ้นเยอะเกินเหตุ รวมทั้งค่าธรรมเนียมในการบริหารกองทุนก็ถูกและยุติธรรมกับนักลงทุนมากกว่า เพื่อให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยครับ

    จากนั้น เมื่อเริ่มลงทุนในกองทุนดัชนีหรือ Jitta Wealth ไปแล้ว สิ่งที่ต้องทำก็คือการเพิ่มเงินลงทุนเรื่อยๆ นำเงินปันผลกลับไปลงทุนต่อ และถือครองการลงทุนให้ยาวนานที่สุด เพียงเท่านี้ ก็จะทำผลตอบแทนได้มากกว่าคนอีก 90% ในตลาดหุ้นที่พยายามจะซื้อๆ ขายๆ หุ้นกันแล้วครับ

    คนที่จะขาดทุนจากตลาดหุ้น คือคนที่เปลี่ยนจากการลงทุนระยะยาว มาเป็นการเก็งกำไรซื้อขายหุ้นระยะสั้นเท่านั้น

    การลงทุนในตลาดหุ้นสามารถทำผลตอบแทนได้สูงกว่าการลงทุนในทรัพย์สินอื่นๆ อยู่แล้ว ขอเพียงแค่อดทนกับความผันผวนระยะสั้นและถือครองการลงทุนไปได้เรื่อยๆ

    ยิ่งตัด “ค่าใช้จ่าย” และ “อารมณ์” ออกไปได้จากการลงทุนได้มากเท่าไหร่ โอกาสที่จะทำผลบตอบแทนระยะยาวได้เหนือกว่านักลงทุนคนอื่นๆ ปก็มีสูงมากขึ้นเท่านั้นครับ

    ลงทะเบียนรับความรู้การลงทุน passive

    รับความรู้การลงทุน passive ฟรี เพื่อเริ่มลงทุนอย่างสบายใจ กำไรอย่างยั่งยืน

    นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า