Table of Content

บทนำ

กองทุนเชิงรุก VS เชิงรับ: ศึกนี้ใครชนะ! เมื่อ Warren Buffett ท้ารบเฮดจ์ฟันด์ (2)

Monsicha Hoonsuwan

5 min read

  • 5 JUN 2019
  • Table of Content

    บทนำ

    ย้อนกลับไปในปี ค.ศ.​ 2008 ท่ามกลางวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ที่โหมกระหน่ำ บั่นทอนความเชื่อมั่นในระบบและสถาบันการเงินทั่วโลก มหาเศรษฐีชาวอเมริกันวัย 78 ปี กำลังคิดปฏิวัติความเชื่อเดิมๆ ในแวดวงการลงทุน

    วอร์เรน บัฟเฟตต์ ต้องการพิสูจน์ให้ทั้งโลกเห็นว่า การนำเงินไปให้ “มืออาชีพ” เช่น กองทุนรวมและกองทุนเฮดจ์ฟันด์ ช่วยดูแลจัดการ ด้วยนโยบายซื้อขายหลักทรัพย์บ่อยครั้ง (active investment) แลกกับค่าธรรมเนียมที่สูงลิ่วนั้น ในระยะยาวจะได้ผลตอบแทนน้อยกว่านักลงทุนมือใหม่ที่ซื้อกองทุนดัชนีเก็บไว้เฉยๆ (passive investment)  

    ว่าแล้วบัฟเฟตต์ก็ล็อกอินเข้าเว็บไซต์ Longbets.com พร้อมวางพนันด้วยเงินจำนวน US$500,000 ว่าภายในเวลา 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2008 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 2017 กองทุน Vanguard S&P ที่ลงทุนในดัชนี S&P500 จะสร้างผลตอบแทนสูงกว่าผลตอบแทนเฉลี่ยที่กองทุนเฮดจ์ฟันด์ 5 กองสามารถทำได้ หากบัฟเฟตต์ชนะ เงินพนันทั้งหมดจะถูกบริจาคให้องค์กรการกุศลที่เขาเลือกเอง

    แต่รอจนแล้วจนเล่า ก็ยังไม่มีกองทุนเฮดจ์ฟันด์ไหนมาลงพนันกับเขาสักที

    สุดท้าย…ผู้กล้าเพียงหนึ่งนาม Protégé Partners ก็รับคำท้าของบัฟเฟตต์ โดยให้เหตุผลว่า “ที่ผ่านมา ผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์ระดับหัวกะทิสามารถสร้างผลตอบแทนหลังหักค่าธรรมเนียมชนะตลาดด้วยความเสี่ยงที่น้อยกว่าได้ เราเชื่อว่าผลงานเช่นนี้จะดำเนินต่อไป”

    Protégé Partners เสนอชื่อกองทุนรวมหน่วยลงทุน 5 กองทุนที่นำเงินไปกระจายลงทุนในเฮดจ์ฟันด์ หรือที่เรียกว่า fund of hedge funds เพราะเชื่อว่าจุดเด่นของกองทุนแบบนี้คือ การได้เลือกลงทุนตามกลยุทธ์และผู้จัดการกองทุนที่มีความสามารถ ซึ่งคุ้มค่ากับค่าธรรมเนียมที่นักลงทุนต้องเสียเพิ่มเติม

    แล้วมวยคู่เอกระหว่างกองทุนดัชนีกับกองทุนเฮดจ์ฟันด์ก็เริ่มขึ้น โดยมีเงิน US$1,000,000 เป็นเดิมพัน

    กองทุนเชิงรุก VS เชิงรับ

    ปีแรก กองทุนที่นำเงินไปลงทุนในเฮดจ์ฟันด์ทั้ง 5 กองที่ Protégé Partners เลือกไว้ขึ้นนำโด่ง ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ อยู่ในสภาพอิดโรยหลังโดนวิกฤติซับไพรม์เล่นงาน

    แต่ Protégé ฉลองได้ไม่นาน ตลาดหุ้นก็เร่ิมฟื้นตัว กองทุนดัชนี S&P500 เร่งแซงผลตอบแทนรายปีของกองทุนทั้ง 5 ในปีที่ 2 และยังทำผลงานได้ดีอย่างต่อเนื่องในปีที่ 3 แม้ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีจะยังน้อยกว่ากองทุนเฮดจ์ฟันด์

    แต่พอเข้าสู่ปีที่ 5 กองทุนดัชนี Vanguard ก็ขึ้นนำเฮดจ์ฟันด์และทิ้งระยะห่างเพิ่มขึ้นทุกปีนับแต่นั้นเป็นต้นมา

    เมื่อผ่านมาครบ 10 ปี พบว่า กองทุนดัชนี S&P 500 เพิ่มขึ้นมาทั้งสิ้น 125.8% คิดเป็นผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปี 8.5% ในขณะที่เฮดจ์ฟันด์โดยเฉลี่ยทำผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีเพียง 3%

    นั่นหมายความว่า หากคุณลงทุนในกองทุนดัชนี 1 ล้านดอลล่าร์ คุณจะได้เงินเพิ่มขึ้นมา US$1,260,983 แต่ถ้าคุณลงทุนกับเฮดจ์ฟันด์ คุณจะได้เพิ่มขึ้นมาแค่ US$343,916 เท่านั้น

    นับเป็นความแตกต่างถึง US$917,067 หรือประมาณ 91% เลยทีเดียวครับ

    การพนันครั้งนี้ ปู่วอร์เรน บัฟเฟตต์จึงกลายเป็นผู้ชนะไปอย่างขาดลอย และทำให้คนทั่วไปเริ่มหันมาเชื่อมั่นในกองทุนเชิงรับมากยิ่งขึ้น

    จดหมายที่บัฟเฟตต์เขียนถึงผู้ถือหุ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 2017 ย้ำให้นักลงทุนตระหนักถึงผลเสียที่ค่าธรรมเนียมมีต่อเงินลงทุน ทำไมจะต้องเสียค่าธรรมเนียมรวมกว่า 60% ของผลตอบแทนที่คุณควรจะได้ ให้กับผู้จัดการกองทุนที่ทำผลงานได้แย่กว่านักลงทุนธรรมดาๆ ที่ซื้อกองทุนดัชนีเก็บไว้เฉยๆ ด้วย?

    แน่นอนว่าโลกนี้มีผู้จัดการกองทุนเก่งๆ ที่สร้างผลตอบแทนหลังหักค่าธรรมเนียมชนะดัชนีตลาดให้คุณได้ แต่คนเหล่านี้เป็นแรร์ไอเทมขนาดที่ว่า ทั้งชีวิตของคุณปู่เอง เขารู้จักเพียง 10 คนเท่านั้นที่เขาเชื่อมั่นในฝีมือจริงๆ

    บางคนที่ทำผลงานดี ก็ดีแค่ช่วงระยะเวลาสั้นๆ อาจเป็นเพราะความสามารถ โชคช่วย หรือเพราะตลาดกำลังวิ่งขึ้นก็ได้ สุดท้ายในระยะยาว กว่า 90% ของผู้จัดการกองทุนต้องแพ้พ่ายให้ดัชนีตลาดไปอย่างน่าเศร้า

    จึงเป็นคำถามที่คุณควรพิจารณาทุกครั้งก่อนนำเงินไปมอบให้ “มืออาชีพ” ช่วยดูแล ว่าโอกาสน้อยกว่า 10% ที่คุณจะได้พบกับผู้จัดการกองทุนแรร์ไอเทมระดับหัวกะทิ คุ้มค่ากับค่าธรรมเนียมที่สูงลิ่วหรือไม่

    หากคำตอบคือ ไม่ เงินลงทุนของคุณอาจจะเติบโตได้ดีกว่าหากคุณเลือกวิธีลงทุนเชิงรับหรือ passive investment ที่เน้นซื้อขายน้อยครั้ง ค่าธรรมเนียมต่ำ อย่างการลงทุนในกองทุนดัชนี SET50 หรือการลงทุนตาม Jitta Ranking ที่ซื้อขายไม่เกินปีละ 2 ครั้ง และมาพร้อมการกระจายความเสี่ยงที่เหมาะสม

    นอกจากจะสบายใจแล้ว ยังได้ผลตอบแทนเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่ต้องแบ่งให้ใคร จึงคุ้มค่าที่สุดสำหรับการลงทุนระยะยาว


    ข้อคิดที่ได้จากการแข่งขัน กองทุนเชิงรุก VS เชิงรับ

    1. บางปีกองทุนเชิงรับให้ผลตอบแทนที่แย่กว่าโดยเฉพาะในปีที่มีวิกฤต แต่ในระยาว ผลตอบแทนกองทุนเชิงรับมักสูงกว่าเสมอ
    2. การจับจังหวะของกองทุนเชิง ที่ถือเงินไว้รอลงทุน ไม่ใช่กลยุทธ์ที่ดีในระยะยาว เทียบกับการลงทุนตลอดเวลาแบบกองทุนเชิงรับ เพราะในระยะยาวตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนเป็นบวกมากกว่าลบ
    3. ยิ่งวิเคราะห์หุ้น และเลือกลงทุนอย่างลึกซึ้ง เพื่อหวังผลตอบแทนที่ดี กลับแพ้กองทุนเชิงรับ ที่ไม่ต้องวิเคราะห์ กระจายความเสี่ยงซื้อหุ้นมากตัว
    4. กลยุทธ์ซื้อขายหุ้นไปมาเพื่อหวังผลกำไร กลับพ่ายแพ้กลยุทธ์การถือหุ้นยาวๆ ของกองทุนเชิงรับ

    บทพิสูจน์เปรียบเทียบผลตอบแทนการลงทุนระหว่าง กองทุนเชิงรุกและกองทุนเชิงรับ

    ลงทะเบียนรับความรู้การลงทุน passive

    รับความรู้การลงทุน passive ฟรี เพื่อเริ่มลงทุนอย่างสบายใจ กำไรอย่างยั่งยืน