Table of Content

บทนำ

คว้าโอกาส ‘ลงทุนต่างประเทศ’ ง่ายๆ ด้วย ETF ตอนที่ 1

Arnon Pattanaanunsuk

5 min read

  • 12 NOV 2021
  • Table of Content

    บทนำ

    Passive Way

    เครื่องมือการลงทุนในปัจจุบันเป็นสิ่งที่คุณสามารถเข้าถึงได้ง่ายและหาข้อมูลศึกษาเพิ่มเติม เพื่อหาสินทรัพย์ที่ตรงจริตของคุณมากที่สุด 

    เครื่องมือทางการลงทุนยอดนิยม ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก คือ ‘กองทุนดัชนี’

    กองทุนดัชนี คือ สินทรัพย์ทางการเงินในรูปแบบกองทุน มีนโยบายบริหารกองทุนแบบ Passive ที่ให้ผลตอบแทนเป็นไปตามดัชนีอ้างอิง เช่น S&P500 DJIA NASDAQ100 ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ หรือ CSI300 ของตลาดหุ้นจีน หรือ NIKKEI225 ของตลาดหุ้นญี่ปุ่น หรือ SET50 ตลาดหุ้นไทย โดยมาในรูปแบบของกองทุนรวม (Mutual Fund) หรือ ETF (Exchange Traded Fund) 

    กองทุนดัชนีเป็นการลงทุนระยะยาว เนื่องจากเป็น Passive Fund ผลตอบแทนล้อไปกับดัชนีอ้างอิง เมื่อดัชนีปรับตัวขึ้น ผลตอบแทนก็จะเพิ่มขึ้น เมื่อดัชนีปรับลดลง ผลตอบแทนก็จะลดลง เป็นเรื่องปกติของตลาดหุ้น มีทั้งขาขึ้นและขาลง

    ถ้าคุณลงทุนอย่างมีวินัย หมั่นเพิ่มทุนสม่ำเสมอในกองทุนดัชนี พอร์ตระยะยาว…จะมีผลตอบแทนเฉลี่ยทบต้นอย่างยั่งยืน เพราะเงินในพอร์ตทำงานได้อย่างเต็มที่ ผลตอบแทนสูงในช่วงขาขึ้น มักชดเชยการขาดทุนช่วงขาลงได้

    Invesco บริษัทจัดการลงทุน ทำวิจัยออกมาว่า ในช่วงพฤศจิกายน 2511 ถึงธันวาคม 2563 ช่วงดัชนี S&P500 เป็นขาขึ้นต่อเนื่องนานที่สุดอยู่ที่ 1,764 วัน หรือประมาณ 58 เดือน ขณะที่ช่วงดัชนีขาลงนานที่สุดอยู่ที่ 349 วัน หรือประมาณ 11-12 เดือน ส่วนผลตอบแทนสูงสุดช่วงขาขึ้นอยู่ที่ +180.04% ช่วงขาลงอยู่ที่ -36.34%

    หากลงทุนนานถึง 30 ปี ผลตอบแทนของดัชนี S&P500 จะอยู่ที่ 10.7% ต่อปี…นี่คือ ความมหัศจรรย์ของการลงทุนแบบ Passive ในตลาดหุ้นที่มีศักยภาพเติบโตในระยะยาว

    ทำไมการลงทุนใน ETF ถึงน่าสนใจ

    ETF หรือ Exchange Traded Fund กองทุนรูปแบบหนึ่ง ที่สามารถซื้อขายได้ในตลาดหุ้น โดยไม่ต้องเปิดบัญชีกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) หรือบริษัทจัดการลงทุน

    ปัจจุบัน ETF ได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก เพราะเป็นเครื่องมือการลงทุนที่เปิดทางให้นักลงทุนสามารถเข้าถึงสินทรัพย์การลงทุนได้หลากหลายรูปแบบ เช่น ตราสารหนี้และหุ้นในระดับประเทศ ภูมิภาค และทั่วโลก

    นอกจากนี้ยังมี ETF หุ้นกลุ่มอุตสาหกรรม หุ้นธีมธุรกิจ และสินค้าโภคภัณฑ์ รวมทั้งยังขยายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างคริปโทเคอร์เรนซี

    จุดเริ่มต้นของ ETF มีนโยบายลงทุนแบบ Passive ตามดัชนีอ้างอิง เพื่อสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกันมากที่สุด เหมือนกับกองทุนรวมดัชนี แต่แทนที่จะประกาศราคาซื้อขายตอนสิ้นวันเหมือนกองทุนรวม นักลงทุนสามารถซื้อขาย ETF ได้ในตลาดหุ้น…เสมือนซื้อขายหุ้นนั่นเอง

    ดังนั้นความน่าสนใจของ ETF คือ ซื้อง่ายขายคล่องบนกระดานหุ้น เพราะเป็นการผสมผสานคุณสมบัติของหุ้นและกองทุนรวมเข้าด้วยกัน 

    ปัจจุบัน ETF ขยายรูปแบบการลงทุนนอกเหนือจาก Passive ETF มาเป็น Active ETF รวมไปถึงหลักการลงทุนและนโยบายที่หลากหลายมากขึ้น บทความนี้ Passive Way จะพาคุณได้ไปทำความรู้จักกับ ETF ในหลากหลายแง่มุม

    ข้อแตกต่างระหว่าง Passive ETF และ Active ETF

    อย่างที่ได้อธิบายไปแล้ว Passive ETF มีนโยบายลงทุนให้ผลตอบแทนเป็นไปตามดัชนีอ้างอิงที่ ETF กองนั้นระบุไว้ใน Fact Sheet (แผ่นข้อมูล) ปัจจุบันมีดัชนีอ้างอิงหลายร้อยหลายพัน ไม่ว่าจะเป็นดัชนีผลตอบแทนตราสารหนี้และดัชนีตลาดหุ้นในระดับประเทศ ภูมิภาค และทั่วโลก นอกจากนี้หลายๆ สถาบันการเงินยังออกดัชนีหุ้นรายอุตสาหกรรม ดัชนีหุ้นธีมการลงทุน และดัชนีสินค้าโภคภัณฑ์

    หากคุณเลือกลงทุนใน Passive ETF คุณต้องมั่นใจว่า ตลาดการเงินการลงทุนและดัชนีอ้างอิงมีประสิทธิภาพที่จะสร้างผลตอบแทนได้ในระยะยาว และความเสี่ยง คือ ตลาดหุ้นเป็นช่วงขาลง ผลตอบแทนจะน้อยลงตามกัน คุณทำเพียงเพิ่มทุนอย่างสม่ำเสมอ หรือ DCA (Dollar Cost Averaging) แล้วปล่อยให้เงินทำงาน สร้างมูลค่าให้เติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ ตามดัชนีอ้างอิง 

    Passive ETF จะมีค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย (Total Expense Ratio) ที่ต่ำมาก เพราะผู้จัดการกองทุนจะลงทุนตามดัชนีอ้างอิง ไม่ต้องติดตามดูกราฟราคาสินทรัพย์และปรับพอร์ตตลอดเวลา โดยคุณสามารถตรวจสอบได้ว่า Passive ETF ที่สนใจมี Total Expense Ratio เท่าไร ลงทุนอยู่ในสินทรัพย์อะไรบ้าง

    ตัวอย่าง Passive ETF 

    • Vanguard Total Stock Market ETF (VTI) อ้างอิงจากดัชนี CRSP US Total Market Index ที่รวมหุ้นทุกขนาดมาร์เก็ตแคปในตลาดหุ้นสหรัฐฯ 
    • ThaiDex SET50 Exchange Traded (TDEX) อ้างอิงจากดัชนี SET50 ที่รวมหุ้น 50 ตัวแรกตามขนาดมาร์เก็ตแคปของตลาดหุ้นไทย
    • VanEck Vectors Vietnam ETF (VNM) อ้างอิงจากดัชนี MVIS Vietnam Index ที่ลงทุนประมาณ 30 บริษัทที่มีมาร์เก็ตแคปอย่างน้อย 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนใหญ่อยู่ในตลาดหุ้นเวียดนาม และตลาดหุ้นอื่นๆ ที่มีรายได้หลักมาจากเวียดนาม 

    ในปี 2563 มูลค่า AUM (Assets Under Management) ของ ETF ทั่วโลกอยู่ที่ 8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างที่ได้เกริ่นมาแล้วว่า ETF เป็นเครื่องมือการลงทุนที่มีวิวัฒนาการมาตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ไม่ได้เป็น Passive ETF เพียงอย่างเดียว แต่มี Active ETF เพื่อตอบสนองความต้องการของนักลงทุนทั่วโลก 

    สำหรับ Active ETF มีนโยบายลงทุนให้ผลตอบแทนชนะดัชนีอ้างอิง ดังนั้นผู้จัดการกองทุนจะจัดพอร์ตตามนโยบายที่ได้ระบุไว้ใน Fact Sheet หากคุณเลือก ETF ประเภทนี้ คุณต้องมีแนวคิดที่ว่า ตลาดการเงินการลงทุนและดัชนีอ้างอิงไม่มีประสิทธิภาพ จึงต้องเลือกเครื่องมือการลงทุนที่จะทำผลตอบแทนชนะดัชนีอ้างอิง และความเสี่ยง คือ โอกาสที่ Active ETF จะมีผลตอบแทนแพ้ดัชนีอ้างอิง ซึ่งเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

    เหมือนกับกองทุนรวมแบบ Active Fund (การบริหารจัดการเชิงรุก) ส่งผลให้ Active ETF จะมี Total Expense Ratio ที่สูงกว่า เพราะผู้จัดการกองทุนต้องติดตามสินทรัพย์ที่ลงทุนและปรับพอร์ต ETF ตลอดเวลา รวมไปถึงการซื้อขายสินทรัพย์ถี่ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าดัชนีอ้างอิง

    ตัวอย่าง Active ETF 

    • ARK Innovation ETF (ARKK) เป็น ETF ที่เน้นลงทุนบริษัทนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เข้ามาดิสรัปรูปแบบธุรกิจเดิม และมีโอกาสขึ้นเป็นผู้นำธุรกิจในอนาคต เช่น เทคโนโลยี AI เทคโนโลยี DNA เทคโนโลยีคลาวด์ และฟินเทค 
    • ARK Genomic Revolution ETF (ARKG) เป็น ETF ที่เน้นลงทุนในธุรกิจด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่ ที่พัฒนาการรักษาให้ลึกลงไปในระดับพันธุกรรม เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรักษาโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคร้ายแรงหรือโรคที่รักษายาก
    • First Trust Preferred Securities & Income ETF (FPE) เป็น ETF ที่เน้นลงทุนในหุ้นหุ้นบุริมสิทธิ และหุ้นกู้แปลงสภาพกว่า 80% เพื่อสร้างผลตอบแทนที่สูงในความผันผวนที่ต่ำ และรายได้ที่มั่นคงให้กับนักลงทุน

    รูปแบบการลงทุนของ Passive ETF และ Active ETF จะแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ทั้งเรื่องนโยบายการลงทุน ผลตอบแทนที่คาดหวัง การบริหารจัดการพอร์ต และค่าธรรมเนียม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า นักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจกับ Active ETF เช่นเดียวกัน ด้วยมูลค่า AUM ทั่วโลกในสัดส่วน 2.9% อยู่ที่ 303,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สิ้นปี 2563

    ในความแตกต่างนี้ อยู่ที่ตัวคุณ ว่ามีเป้าหมายใช้เครื่องมือการลงทุนรูปแบบไหน ที่ตรงกับความต้องการและจริตการลงทุนของคุณ หากต้องการลงทุน Passive ETF เพื่อเติบโตในระยะยาวไปตามดัชนีอ้างอิงด้วยค่าธรรมเนียมที่ต่ำ หากต้องการลงทุน Active ETF เพื่อผลตอบแทนชนะดัชนี ด้วยค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้น 

    Passive Way

    ประเภทสินทรัพย์ที่ ETF ลงทุน

    ปัจจุบันมี ETF อยู่เกือบ 8,000 กองทั่วโลก กลายเป็นเครื่องมือการลงทุนของนักลงทุนทั่วโลก มีเม็ดเงินหลั่งไหลเข้ามาลงทุนเรื่อยๆ เพราะเปรียบเสมือนหุ้นบนกระดานซื้อขาย และได้กระจายความเสี่ยงเพียงลงทุนแค่ ETF กองเดียว ทำให้สินทรัพย์ที่ ETF มีมากมายหลายประเภท ที่เป็นทางเลือกให้กับคุณ 

    Passive Way ได้รวบรวมสินทรัพย์ยอดนิยมที่ ETF เข้าไปลงทุนมากที่สุดได้แก่ หุ้นและตราสารหนี้ ทำให้มูลค่า AUM ของสินทรัพย์ทั้ง 2 ตัวมีขนาดใหญ่มาก ETF จึงมีความแข็งแกร่งในแง่ของโอกาสเข้าถึงสินทรัพย์ที่หลากหลาย และจัดพอร์ตลงทุนให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนีมากที่สุด จึงมีโอกาสเติบโตได้ดีในระยะยาว

    ตัวอย่าง ETF ที่ลงทุนในตลาดหุ้น

    ETFนโยบายมูลค่า AUM
    Vanguard Total Stock Market ETF (VTI)หุ้นทั้งหมดในตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา289,550 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
    Vanguard FTSE Developed Markets ETF (VEA)หุ้นทั้งหมดในตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้ว108,460 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
    Vanguard FTSE Emerging Markets ETF (VWO)หุ้นทั้งหมดในตลาดหุ้นประเทศกำลังพัฒนา80,530 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
    ที่มา: Jitta Wealth และ etf.com ข้อมูล ณ 9 พฤศจิกายน

    ตัวอย่าง ETF ที่ลงทุนในตราสารหนี้

    ETFนโยบายมูลค่า AUM
    iShares Core U.S. Aggregate Bond ETF (AGG)พันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้บริษัทเอกชนคุณภาพดีของสหรัฐฯ90,240 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
    iShares iBoxx $ Investment Grade Corporate Bond ETF (LQD)หุ้นกู้บริษัทเอกชนคุณภาพดีของสหรัฐฯ38,330 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
    ที่มา: Jitta Wealth และ etf.com ข้อมูล ณ 9 พฤศจิกายน

    นอกจากนี้ยังมี ETF ที่ลงทุนในรายกลุ่มอุตสาหกรรมหรือธุรกิจ ที่เรียกว่า Sector ETF เพื่อเปิดโอกาสลงทุนในหุ้นรายกลุ่มอุตสาหกรรมหรือธุรกิจ บางช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นขาลงหรือเกิดวิกฤต จะมีบางอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบน้อยหรือไม่เจอผลกระทบเลย จึงยังมีผลตอบแทนที่ดีกว่า 

    Sector ETF มีนโยบายลงทุนได้ทั้ง Passive และ Active ขึ้นอยู่กับบริษัทจัดการลงทุน โดยจะใช้ดัชนีอ้างอิงและตะกร้าหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมหรือธุรกิจตามเกณฑ์ Global Industry Classification Standard (GICS) จัดทำโดยบริษัทจัดทำดัชนีตลาดอย่าง MSCI และ S&P แบ่งเป็น 4 ลำดับชั้นจากยอดสู่ฐานของสามเหลี่ยม ได้แก่

    • 11 Sectors (ภาคอุตสาหกรรมหรือธุรกิจ)
    • 24 Industry Groups (กลุ่มอุตสาหกรรมหรือธุรกิจ)
    • 68 Industries (อุตสาหกรรมหรือธุรกิจ)
    • 157 Sub-industries (อุตสาหกรรมหรือธุรกิจย่อย)

    ยกตัวอย่างภาคอุตสาหกรรมหรือธุรกิจ เช่น พลังงาน (Energy) สินค้าจำเป็น (Consumer Staples) การเงิน (Financials) หรือบริการสุขภาพ (Healthcare) 

    ต่อมาก็เกิดเทรนด์ใหม่ คือ การลงทุนในธีมธุรกิจ (Thematic Investment) ใน ETF เรียกว่า Thematic ETF ให้คำจำกัดความไว้ว่า เป็นเครื่องมือการลงทุนในธีมธุรกิจที่มีศักยภาพเติบโตในระยะยาว โดยเป็นการเติบโตในรูปแบบ Structural Trend ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินชีวิตหรือการดำเนินธุรกิจในอนาคตข้างหน้า

    ยกตัวอย่าง เช่น บทบาทของธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่แทรกซึมเข้ามา เพิ่มความสะดวกสบายในการซื้อของ โดยที่ไม่ต้องเดินทางไปซูเปอร์มาร์เก็ตหรือห้างสรรพสินค้า จึงทำให้เกิดธีมอีคอมเมิร์ซเพื่อลงทุนในรูปแบบ ETF ยิ่งเผชิญวิกฤต Covid-19 ที่ผู้คนออกไปไหนไม่ได้ การซื้อของออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจึงเติบโตสูงมากในปี 2563 ส่งผลให้บริษัทที่ให้บริการอีคอมเมิร์ซ หรือ ETF อย่าง ProShares Online Retail ETF (ONLN) เติบโตสูงถึง +111.37% ในปีเดียวกัน

    ธุรกิจคลาวด์ (Cloud Computing) กลายเป็น Thematic ETF เช่นเดียวกัน และได้รับอานิสงส์จากวิกฤต Covid-19 ที่ทำให้ผู้คนและองค์กรทั่วโลกหันมาลงทุนกับระบบคลาวด์ เพื่อใช้ในการทำงานจากที่บ้าน เก็บไฟล์งานต่างๆ ที่ดึงออกมาใช้ได้ตลอดเวลา ขอเพียงมีอินเทอร์เน็ต รวมไปถึงความบันเทิงในบ้าน เช่น ดูภาพยนตร์ ดูซีรีส์ และฟังเพลง ในปี 2563 ETF อย่าง WisdomTree Cloud Computing Fund (WCLD) เติบโตสูงถึง +109.71% 

    แต่การเติบโตแบบ Structural Trend ไม่ได้วัดที่ผลตอบแทนปีใดปีหนึ่งเท่านั้น เป็นมุมมองและความเชื่อมั่นในธีมธุรกิจนั้น ที่มีศักยภาพเติบโตในระยะยาว ที่ว่ากันเป็น 10-20 ปี คุณอาจจะตั้งคำถามกับตัวเองว่า คุณยังจะใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่อไปหรือไม่ หรือแพลตฟอร์มคลาวด์มีความจำเป็นในชีวิตและการทำงานของคุณหรือเปล่า

    รวมไปถึงธีมธุรกิจอื่นๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก เช่น ฟินเทค เกมและอีสปอร์ต หุ่นยนต์และ AI จีโนมิกส์ หรือพลังงานสะอาด ถ้ามองภาพระยะยาว…ธีมธุรกิจเหล่านี้จะมีศักยภาพเติบโตหรือเข้ามามีอิทธิพลกับผู้คนทั่วโลกหรือไม่

    นี่คือความเป็น ‘เมกะเทรนด์’ ของธีมธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตสูงในอนาคต บริษัทจัดทำดัชนีอ้างอิงต่างเล็งเห็นถึงเทรนด์การลงทุนใน Thematic ETF จึงรวบรวมบริษัทที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวข้องกับธีมนั้นๆ และจัดทำดัชนีอ้างอิงขึ้นมา โดยแต่ละบริษัทจัดการลงทุนสามารถออกแบบนโยบายได้ทั้ง Passive ETF หรือ Active ETF 

    คุณสามารถเลือกสร้างพอร์ตให้เติบโตไปตามอุตสาหกรรมหรือธีมธุรกิจที่เลือก พร้อมทั้งกระจายความเสี่ยงในหุ้นหลายสิบหลายร้อยบริษัทผ่าน ETF กองเดียว 

    อย่างไรก็ตามการลงทุนใน ETF รายกลุ่มอุตสาหกรรมหรือธีมธุรกิจ ราคาและผลตอบแทนจะมีความผันผวนมากกว่า ETF ตลาดหุ้นที่มีกรอบการลงทุนกว้างกว่าและลงทุนในหุ้นหลากหลายอุตสาหกรรม ดังนั้นคุณควรศึกษาสินทรัพย์แต่ละอุตสาหกรรมก่อนจะลงทุน เพื่อความเข้าใจในธรรมชาติของแต่ละอุตสาหกรรมหรือธีมธุรกิจ และมั่นใจในศักยภาพเติบโต พร้อมรับมือกับความผันผวนที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

    ตัวอย่าง ETF ที่ลงทุนในรายกลุ่มอุตสาหกรรมหรือธุรกิจ และธีมธุรกิจ

    ETFนโยบายมูลค่า AUM
    iShares Global Healthcare ETF (IXJ)มากกว่า 100 บริษัททั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรม Healthcare3,580 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
    Global X FinTech ETF (FINX)มากกว่า 50 บริษัทที่เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี Fintech ทั่วโลก1,450 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
    ETFMG Alternative Harvest ETF (MJ)มากกว่า 40 บริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมการเพาะปลูกและแปรรูปกัญชา1,040 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
    Global X Video Games & E-sports ETF (HERO)มากกว่า 40 บริษัทที่เกี่ยวข้องกับวงการเกมและจัดการแข่งขันอีสปอร์ต490.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
    ที่มา: Jitta Wealth และ etf.com ข้อมูล ณ 9 พฤศจิกายน

    ETF อีกประเภทที่ออกแบบมา เพื่อคว้าโอกาสลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ทองคำ น้ำมันดิบ เงิน หรือสินค้าการเกษตรต่างๆ เรียกว่า Commodity ETF ซึ่งจะมีนโยบายการลงทุนที่แคบกว่า ETF ประเภทอื่นๆ  เนื่องจากลงทุนเจาะจงไปที่สินค้าโภคภัณฑ์ตัวนั้นๆ ราคาและผลตอบแทนจึงมีความผันผวนสูงมาก เป็นไปตามวงรอบเศรษฐกิจ ตามอุปสงค์อุปทาน หากมีข่าวสารเชิงลบ ที่จะส่งผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยตรง

    ยกตัวอย่างการลงทุนในทองคำ ราคาจะมีความเคลื่อนไหวไปตามวงรอบวัฏจักรเศรษฐกิจ โดยในช่วงที่เศรษฐกิจเฟื่องฟู เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง จนธนาคารกลางขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ราคาทองคำจะอยู่ไต่ระดับเป็นขาขึ้น ไปจนถึงช่วงเศรษฐกิจเริ่มถดถอย เงินเฟ้อไม่เร่งตัว ธนาคารกลางเริ่มลดดอกเบี้ย ราคาทองคำอาจจะทำนิวไฮได้ในช่วงนี้ เพราะนักลงทุนทั่วโลกจะหาสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนดีในช่วงที่ตลาดการเงินการลงทุนผันผวน ที่เรียกว่า Safe Heaven

    ดังนั้นคุณควรทำความเข้าใจและหาความรู้ในสินค้าโภคภัณฑ์ รวมไปถึงรับมือกับความเสี่ยงด้านราคา การปรับพอร์ตใน Commodity ETF ตามรอบวงจรเศรษฐกิจมีความสำคัญมาก หากคาดการณ์ว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีโอกาสเร่งตัวในอนาคต ค่อยปรับพอร์ตให้น้ำหนักการลงทุนใน Commodity ETF มากขึ้น แล้วลดสัดส่วนในพอร์ตเมื่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์เริ่มปรับตัวลดลง 

    Commodity ETF จะรวบรวมและคัดสรรบริษัทชื่อดังที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้องกับสินค้าโภคภัณฑ์ที่ ETF นั้นลงทุน และเป็น Passive ETF ที่ให้ผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิงมากที่สุด

    ตัวอย่าง ETF ที่ลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์

    ETFนโยบายมูลค่า AUM
    SPDR Gold Shares (GLD)กองทุน ETF ทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีชื่อเสียงที่สุดในโลกด้วย56,330 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
    United States Oil Fund LP (USO)กองทุน ETF น้ำมันดิบที่ใหญ่ที่สุดในโลก ถือครองน้ำมันหลายชนิด ครอบคลุมน้ำมันทั่วโลก2,710 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
    Invesco DB Agriculture Fund (DBA)สินค้าการเกษตรแบบคลอบคลุม ซึ่งรวบรวมหลายประเภท เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง ข้าวสาลี และทุกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร944.04 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
    ที่มา: Jitta Wealth และ etf.com ข้อมูล ณ 9 พฤศจิกายน

    จะเห็นได้ว่า การลงทุนใน Commodity ETF จะมีความแตกต่างกันในสินค้าโภคภัณฑ์ ดังนั้น ราคาและผลตอบแทน จะมีความผันผวนและความเสี่ยงที่ไม่เหมือนกัน ในช่วงราคาน้ำมันขาลง ราคาทองอาจจะเป็นขาขึ้นได้ แต่ก็มีส่วนที่เหมือนกัน คือ เป็น Passive ETF สร้างผลตอบแทนเป็นไปตามดัชนีอ้างอิง ขึ้นอยู่กับคุณว่า จะเลือกลงทุนและเชื่อมั่นในสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทไหน

    นอกจากนี้ยังมี ETF ที่ลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภท เพื่อตอบสนองความต้องการลงทุนที่แตกต่างกันออกไป เช่น ETF เงินตราต่างประเทศ และ ETF คริปโทเคอร์เรนซี โดยคุณสามารถติดตามข่าวสารและหาข้อมูลราคา ETF ทั่วโลกได้ที่ 

    อ่านมาจนถึงตอนนี้คุณอาจจะเกิดคำถามขึ้นมาว่า ‘มีวิธีในการคัดเลือก ETF ต่างประเทศเพื่อลงทุนอย่างไร’ หรือ ‘ถ้าอยากจะลงทุนใน ETF ต่างประเทศโดยตรงสามารถทำยังไงได้บ้าง’ ซึ่งในตอนต่อไป Passive Way จะพาคุณไปลงลึกถึงวิธีการเลือก ETF และโอกาสลงทุนต่างประเทศ และเมื่ออ่านจนจบ คุณจะตัดสินใจได้ว่า เลือกลงทุน ETF ต่างประเทศอย่างไรให้ตรงจริตของคุณ 


    หากคุณสนใจจะคว้าโอกาส  ‘ลงทุนต่างประเทศ’ ด้วย ETF โดยเป็นเจ้าของสินทรัพย์โดยตรงและมีกองทุนส่วนบุคคลเป็นของตัวเอง Jitta Wealth มี 2 นโยบายการลงทุนให้คุณเลือก ดังนี้ 

    • Global ETF สูตรสำเร็จพอร์ตลงทุน ครอบคลุมตราสารหนี้คุณภาพดีและหุ้นอนาคตไกลจากทั่วโลก จัดสรรสินทรัพย์และกระจายความเสี่ยงตามผลตอบแทนที่คุณเลือกได้ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://jittawealth.com/global-etf 
    • Thematic โอกาสลงทุนใน ETF รายอุตสาหกรรมและธีมธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตทั่วโลก กระแสการลงทุนใน ‘เมกะเทรนด์’ อนาคตไกล เลือกจัดพอร์ตเองกับ Thematic DIY และให้ AI เลือกธีมจัดพอร์ตอัตโนมัติกับ Thematic Optimize ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่  https://jittawealth.com/thematic 

    ลงทะเบียนรับความรู้การลงทุน passive

    รับความรู้การลงทุน passive ฟรี เพื่อเริ่มลงทุนอย่างสบายใจ กำไรอย่างยั่งยืน

    1. Put $10,000 in the S&P 500 ETF and Wait 20 Years https://www.investopedia.com/articles/personal-finance/022216/put-10000-sp-500-etf-and-wait-20-years.asp 
    2. S&P 500 Index Fund Average Annual Return https://www.fool.com/investing/how-to-invest/index-funds/average-return/ 
    3. 2021 Global ETF Investor Survey https://www.bbh.com/us/en/insights/investor-services-insights/2021-global-etf-survey.html 
    4. ETF คืออะไร? – ทำความรู้จักกับ ETF ในภาษาง่ายๆ https://www.finnomena.com/getwealthsoon/what-is-etf/
    5. VanEck Vietnam ETF (VNM®) seeks to replicate as closely as possible https://www.vaneck.com/us/en/investments/vietnam-etf-vnm/
    6. Actively Managed ETFs https://etfdb.com/themes/actively-managed-etfs/
    7. ลงทุนแบบล้ำยุคไปกับ ARK Invest : ตอน ARK Innovation ETF (ARKK) https://knowledge.bualuang.co.th/knowledge-base/arkk/
    8. ลงทุนแบบล้ำยุคไปกับ ARK Invest : ตอน ARK Genomic Revolution ETF (ARKG) https://knowledge.bualuang.co.th/knowledge-base/arkg/
    9. กองทุนแบบ Active vs Passive แตกต่างกันยังไง? https://www.moneybuffalo.in.th/mutual-fund/active-vs-passive-fund
    10. ETF Assets Cross $4 Trillion Milestone https://www.investopedia.com/etf-assets-cross-usd4-trillion-milestone-4692488
    11. Sector ETF https://www.investopedia.com/terms/s/sector-etf.asp 
    12. Invest Thematically https://www.blackrock.com/au/intermediaries/ishares/thematic-investing 
    13. USO United States Oil Fund https://www.etf.com/channels/oil-etfs

    นักเขียนอิสระ ผู้สนใจเรื่องการเงิน การลงทุนแบบเน้นคุณค่า และการลงทุนระยะยาว