Table of Content

บทนำ

จะลดความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้นได้แค่ไหน?

Trawut Luangsomboon

5 min read

  • 5 JUN 2019
  • Table of Content

    บทนำ

    “การลงทุนมีความเสี่ยง” คือ ประโยคที่ได้ยินกันมาอย่างสม่ำเสมอเวลา ตัดสินใจจะลงทุนในอะไรสักอย่าง ซึ่งความหมาย ก็คือ “เมื่อลงทุนไปแล้ว มีโอกาสที่จะขาดทุนได้เสมอ” ซึ่งการขาดทุนรวมตั้งแต่ขาดทุนไม่กี่เปอร์เซ็นต์ไปจนขาดทุนหมดตัวเลยก็ได้

    ดังนั้น ความเสี่ยง จะเท่ากับ โอกาสที่จะขาดทุน นั่นเองครับ ยิ่งมีโอกาสขาดทุนมาก ความเสี่ยงก็มากตามไปด้วย หรือการลงทุนไหนที่มีความเสี่ยงมาก โอกาสขาดทุนก็มากไปด้วยนั่นเอง

    แน่นอนกว่าในบรรรดาทรัพย์สินการลงทุนต่างๆ “หุ้น” ถูกจัดไว้ว่าเป็น ทรัพย์สินที่มีความเสี่ยงในการลงทุนสูงมาก เพราะมีโอกาสที่จะขาดทุนจากหุ้นได้เสมอ ไม่ว่าจะลงทุนเก่งแค่ไหนก็ตาม

    ในฐานะนักลงทุนที่ต้องการลงทุนสร้างความมั่งคั่งจากตลาดหุ้นนั้น จะต้องเจอกับ “ความเสี่ยง” อะไรบ้าง และจะลดความเสี่ยงเหล่านี้ลงได้มากน้อยแค่ไหนกัน อ่านด้านล่างนี้ได้เลยครับ


    1. ความเสี่ยงของตลาดหุ้น (Market risk)

    ความเสี่ยงโดยรวมของตลาดหุ้น ที่เกิดจากอารมณ์โดยรวมของนักลงทุนทุกคนในตลาด ถ้าหากนักลงทุนจำนวนมากคึกคักอยากลงทุน ก็จะทำให้ตลาดหุ้นขึ้น แต่ถ้าหากนักลงทุนจำนวนมากหวาดกลัวหดหู่ อยากขายหุ้น ก็จะทำให้หุ้นตกทั้งตลาดก็ได้ เป็นต้น

    แน่นอนว่าไม่มีใครคาดการณ์ได้อย่างแม่นยำว่า ปีไหนผลตอบแทนตลาดหุ้นจะเป็นบวก หรือปีไหนผลตอบแทนตลาดหุ้นจะเป็นลบ ดังนั้นโอกาสขาดทุนในแต่ละปีมีได้เสมอ


    2. ความเสี่ยงของอุตสาหกรรม (Sector risk)

    ความเสี่ยงที่อุตสาหกรรมใด อุตสาหกรรมหนึ่งเกิดปัญหาขึ้นมา และส่งผลกระทบกับหุ้นต่างๆ ในอุตสาหกรรมนั้นๆ ทำให้ราคาลดลง เช่น

    • การปรับเปลี่ยนสัญญาสัมปทานในกิจการโทรคมนาคม ทำให้มีค่าใช้จ่ายด้านใบอนุญาตสูงขึ้น
    • การที่ Social media ทำให้อุตสาหกรรมสื่อดั้งเดิมย่ำแย่ คิดค่าโฆษณาได้น้อยลง
    • การลดราคายาทำให้อุตสาหกรรมโรงพยาบาล มีรายได้ลดลง
    • การขึ้นภาษีน้ำตาล ทำให้กลุ่มบริษัทที่ขายน้ำดื่มที่มีน้ำตาลผสมอยู่ ต้นทุนแพงขึ้น

    ไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้ว่า อุตสาหกรรมไหนจะเกิดปัญหาอะไรขึ้นเมื่อไหร่ โอกาสที่จะจาดทุนก็มีอยู่เสมอครับ


    3. ความเสี่ยงของหุ้นรายตัว (Individual stock risk)

    ความเสี่ยงที่หุ้นตัวใดตัวหนึ่งที่เกิดปัญหาขึ้นมา ทำให้พื้นฐานของกิจการหรือราคาหุ้นเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะ โดยไม่เกี่ยวข้องกับหุ้นตัวอื่นๆ เช่น

    • โรงงานของบริษัทเกิดไฟไหม้ ทำให้ผลิตสินค้าไม่ได้
    • สินค้าของบริษัทโดนคู่แข่งในต่างประเทศลอกเลียนแบบ
    • บริษัทโดนฟ้องร้องในเรื่องปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์
    • บริษัททำการตกแต่งบัญชี เพื่อสร้างรายได้มากเกินจริง

    ปัญหาเหล่านี้ ไม่มีทางรู้ล่งหน้า ต่อให้ตลาดหุ้นเป็นบวก อุตสาหกรรมโดยรวมเป็นบวก หุ้นที่ลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ก็มีโอกาสที่ผลตอบแทนจะติดลบได้ ถ้าประสบปัญหาเฉพาะตัว


    4. ความเสี่ยงในการเลือกผู้จัดการกองทุน (Fund manager picking risk)

    ความเสี่ยงที่อิงกับผู้จัดการกองทุนคนใดคนหนึ่งที่บริหารกองทุนให้ เพราะผู้จัดการกองทุนแต่ละคนย่อมมีทักษะหรือกลยุทธ์การลงทุนที่แตกต่างกัน และไม่มีรูปแบบไหนที่สามารถทำกำไรได้ในทุกสภาวะของตลาดหุ้น รวมทั้งด้วยความที่ผู้จัดการกองทุนก็เป็นคน โอกาสที่จะตัดสินใจในการลงทุนผิดพลาดจากอคติต่างๆ ก็มีได้ตลอดเวลา เช่น

    • เลือกลงทุนเพราะเชื่อข้อมูลจากผู้บริหารมากเกินไป ซึ่งหลายครั้งอาจจะไม่เป็นความจริง
    • มีความรักหรือชอบในหุ้นบางตัว เป็นส่วนตัว ที่อาจจะทำให้ตัดสินใจลงทุนผิดพลาดได้
    • มีความเครียดจากการลงทุนในช่วงตลาดหุ้นตกหนักๆ ก็อาจจะทำให้ไม่กล้าที่จะเสี่ยงลงทุนในหุ้นดีๆ
    • ถูกกฏเกณฑ์กองทุนบังคับให้ต้องลงทุน แม้ว่าจะไม่มีหุ้นในแบบที่ตนเองถนัดให้ลงทุนแล้วก็ตาม

    โอกาสที่จะขาดทุนจากกลยุทธ์ อารมณ์ และอคติของผู้จัดการกองทุนมีได้เสมอ ต่อให้ตลาดหุ้นโดยรวมในปีนั้นๆ จะเป็นบวกก็ตาม


    5. ความเสี่ยงในการเลือกที่ปรึกษาการลงทุน (Financial advisor picking risk)

    ความเสี่ยงที่อิงกับที่ปรึกษาการลงทุน ที่บอกให้นำเงินไปลงทุนในทรัพย์สินที่แตกต่างกัน และแนะนำกองทุนต่างๆ ที่คิดว่าดีให้ เพราะไม่มีทางที่ที่ปรึกษาจะแนะนำทรัพย์สินที่ควรลงทุนได้ถูกต้องทุกครั้ง เช่น

    • คิดว่าปีนี้ทองจะลง แต่ดันเกิดสงครามทองเลยกลับมาขึ้น
    • คิดว่าปีนี้หุ้นจีนน่าลงทุน แต่ดันเกิดสงครามการค้า ทำให้หุ้นจีนร่วงยกแผง
    • คิดว่าตลาดหุ้นขึ้นมามากแล้ว ควรจะเปลี่ยนไปลงทุนพันธบัตร แต่ปรากฏว่าตลาดหุ้นขึ้นต่อได้เพราะมีการลดภาษีจากรัฐบาล

    ต่อให้บางปีแนะนำทรัพย์สินได้ถูกต้อง แต่ก็อาจจะแนะนำกองทุนที่ควรลงทุนผิดพลาดก็ได้ ทำให้มีโอกาสที่จะขาดทุนจากคำแนะนำของที่ปรึกษาเหล่านี้ได้เสมอ โดยที่ไม่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงด้านอื่นๆ ครับ


    ทั้ง 5 ข้อนี้ ก็คือ ความเสี่ยงหลักๆ ที่ทำให้มีโอกาสขาดทุนจากการลงทุนในตลาดหุ้นได้เสมอ ซึ่งแน่นอนว่า แต่ละคนก็จะรับความเสี่ยงมากน้อยต่างกันไป ขึ้นอยู่กับแนวทางการลงทุนในหุ้นของคนนั้นๆ ครับ ซึ่งโดยหลักแล้วก็จะแบ่งกลุ่มนักลงทุนได้ 3 กลุ่ม

    กลุ่ม A : นักลงทุนที่ลงทุนหุ้นตามคำแนะนำของที่ปรึกษาด้านการลงทุน

    กลุ่ม B : นักลงทุนที่ลงทุนในหุ้นด้วยตนเอง

    กลุ่ม C : นักลงทุนที่ลงทุนในกองทุนเชิงรับ เช่น กองทุนดัชนี กองทุน Jitta Wealth

    ซึ่งแต่ละกลุ่มก็จะต้องรับความเสี่ยงในแต่ละข้อดังนี้

    กลุ่ม A : นักลงทุนที่ลงทุนหุ้นตามคำแนะนำของที่ปรึกษาด้านการลงทุน

    กลุ่มที่มีความเสี่ยงมากที่สุดและมีโอกาสขาดทุนได้มากที่สุด เพราะต้องแบกรับความเสี่ยงไว้ครบทั้ง 5 ข้อ ถ้าหากนักลงทุนในกลุ่ม A จะกำไรในปีใดๆ ก็ตาม ก็จะต้องคาดหวังให้

    • เลือกที่ปรึกษาทางการเงินได้ถูกคน
    • เลือกกองทุนได้ถูกกอง
    • เลืือกหุ้นได้ถูกตัว
    • เลือกอุตสาหกรรมได้ถูกต้อง
    • ตลาดหุ้นเป็นขาขึ้น

    ซึ่งแน่นอนว่าโอกาสที่จะเป็นไปได้ตามนี้มีน้อยมากๆ และ ยิ่งมีคน (ที่ปรึกษา + ผู้จัดการกองทุน) เข้ามาเกี่ยวข้องมากๆ ยิ่งทำให้โอกาสในการทำกำไรน้อยลง เนื่องจากจะมี “อารมณ์” และ “ค่าใช้จ่าย” เข้ามาเกี่ยวข้องกับการลงทุนเยอะขึ้นครับ

    และเนื่องจากนักลงทุนในกลุ่ม A ไม่ได้เลือกหุ้นลงทุนด้วยตนเอง จึงไม่สามารถที่จะลดความเสี่ยงในส่วนของอุตสาหกรรมหรือหุ้นรายตัวเพิ่มเติมได้เลยครับ ต้องฝากชีวิตไว้ที่ผู้จัดการกองทุนอย่างเดียวเลยว่า จะทำการเลือกหุ้นและกระจายความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม


    กลุ่ม B : นักลงทุนที่ลงทุนในหุ้นด้วยตนเอง

    กลุ่มที่มีความเสี่ยงบางส่วน สามารถลดความเสี่ยงจากการฟังคำแนะนำของที่ปรึกษาและการเลือกผู้จัดการกองทุนออกไป ซึ่งก็จะเป็นการลดความผิดพลาดในการลงทุนจาก “อารมณ์” ลงไปได้พอสมควร ดังนั้นหากนักลงทุนในกลุ่ม B จะได้กำไร ก็ต้องคาดหวังให้

    • เลือกหุ้นได้ถูกตัว
    • เลือกอุตสาหกรรมได้ถูกต้อง
    • ตลาดหุ้นเป็นขาขึ้น

    ซึ่งสิ่งที่นักลงทุนในกลุ่ม B จะทำได้เพื่อลดความเสี่ยง ก็คือวิเคราะห์อุตสาหกรรมและหุ้นที่จะลงทุนให้ดี รวมทั้งกระจายความเสี่ยงไปในหลายๆ อุตสาหกรรม และหลายๆ หุ้นอย่างเหมาะสม เพื่อให้พอร์ตการลงทุนสามารถเติบโตได้ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม


    กลุ่ม C : นักลงทุนที่ลงทุนในกองทุนเชิงรับ เช่น กองทุนดัชนี กองทุน Jitta Wealth

    กลุ่มความเสี่ยงน้อย เพราะไม่มีความเสี่ยงในการเลือกที่ปรึกษาและเลือกผู้จัดการกองทุน รวมทั้งในกองทุนเชิงรับเองก็จะมีการกระจายความเสี่ยงด้วยการลงทุนในหลากหลายอุตสาหกรรมและในหุ้นหลายๆ ตัวให้เรียบร้อยแล้ว ทำให้ความเสี่ยงในส่วนนี้น้อยลงจนแทบจะไม่สามารถทำให้พอร์ตการลงทุนเสียหายหนักๆ ได้ครับ

    อย่างกรณีของ Jitta Wealth ก็มีการกระจายความเสี่ยงโดยลงทุนในหุ้น 30 หุ้น ทำให้แต่ละหุ้นมีสัดส่วนแค่ราวๆ 3% ของพอร์ต ต่อให้ราคาหุ้นตัวใดตัวหนึ่งลดลงไป 50% พอร์ตก็เพิ่งจะลดลงแค่ 1.5% เท่านั้น ซึ่งถ้าหากหุ้นตัวอื่นๆ ยังคงดีอยู่ พอร์ตโดยรวมก็เป็นบวกได้

    เมื่อความเสี่ยงอื่นๆ โดนกำจัดไปหมดแล้ว ดังนั้นความเสี่ยงเดียวที่ยังคงเหลืออยู่ที่ของนักลงทุนกลุ่ม C ที่อาจจะทำให้ขาดทุนได้ก็คือ ความเสี่ยงของตลาดหุ้น (Market risk) ครับ

    ซึ่งในทางทฤษฎีแล้ว ไม่มีทางไหนที่จะกำจัดความเสี่ยงของตลาดหุ้น (Market risk) ออกไปได้ เพราะเป็นสิ่งที่เกิดจาก “อารมณ์” ของคนจำนวนมากที่แสดงออกมาในตลาดหุ้น ณ ช่วงเวลานั้นๆ ที่ทำให้ตลาดโดยรวมขึ้นหรือลงได้ในแต่ละปี โดยอาจจะไม่เกี่ยวข้องกับเหตุผลใดๆ ทั้งสิ้นก็ได้

    แต่ทั้งนี้ นักลงทุนกลุ่ม C สามารถ ลดความเสี่ยงของตลาดหุ้น นี้ลงได้ ด้วยการถือครองการลงทุนให้นานขึ้น เพราะแม้ว่าในระยะสั้น ตลาดหุ้นอาจจะขึ้นหรือลงตามอารมณ์ของคน แต่ในระยะยาวแล้ว ตลาดหุ้นจะขึ้นตามผลกำไรและเงินปันผล ของบริษัทต่างๆ ในตลาดหุ้นรวมกัน

    ถ้าหากลงทุนในตลาดหุ้นเป็นเวลา 1 ปี โอกาสที่ตลาดหุ้นจะขาดทุนจะอยู่ที่ 37.21% แต่ถ้าลงทุนในตลาดหุ้น 3 ปี ความเสี่ยงตรงนี้ก็จะลดลงไปได้อีกเยอะ เพราะโอกาสที่ลงทุนไป 3 ปีแล้ว ตลาดหุ้นจะขาดทุนเหลือเพียงแค่ 26.83% และถ้าลงทุน 20 ปีขึ้นไป โอกาสที่ตลาดหุ้นจะขาดทุนนั้นแทบจะเป็นศูนย์ไปเรียบร้อยแล้วครับ (อ่านข้อมูลเพิ่มเติมที่ ลงทุนในหุ้นอย่างน้อยกี่ปี ถึงจะไม่ขาดทุน)

    การลงทุนในหุ้นนั้นมีความเสี่ยงหลายอย่างที่จะต้องเผชิญ แต่ด้วยความรู้และกลยุทธ์ในการลงทุนที่ถูกต้อง สามารถกำจัดความเสี่ยงต่างๆ ออกไปได้เกือบทั้งหมด

    ดังนั้นถ้าเข้าใจและอยู่กับความเสี่ยงของตลาดหุ้น (Market risk) ได้ ด้วยการลงทุนระยะยาวเป็นเวลาหลายๆ ปีแล้ว การลงทุนผ่านกองทุนเชิงรับ เช่น กองทุนดัชนี หรือกองทุน Jitta Wealth ก็จะเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุดจนแทบจะไม่มีโอกาสขาดทุนเลยครับ

    ลงทะเบียนรับความรู้การลงทุน passive

    รับความรู้การลงทุน passive ฟรี เพื่อเริ่มลงทุนอย่างสบายใจ กำไรอย่างยั่งยืน

    นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า