เป็นคำพูดที่หลายคนมักบอกกันว่า เข้าเดือนพฤษภาคมแล้ว ให้ขายหุ้นออกไปก่อน
แล้วค่อยกลับมาซื้อใหม่ช่วงเดือนพฤศจิกายน-เมษายน จะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า
ในส่วนของเหตุผลนั้น ก็น่าจะเป็นเพราะ
- ช่วงต้นปีคาดการณ์เศรษฐกิจดีเกินไป เพราะข้อมูลยังน้อย พอเวลาผ่านไป 4-5 เดือน ความจริงปรากฎว่าไม่ดีดังคาด ก็มีการปรับพอร์ตขายกันออกมา
- ประกอบกับเป็นเดือนที่บริษัททยอยประกาศงบไตรมาส 1 ก็อาจเป็นได้ทั้ง Sell on Fact หรือ Sell เพราะงบไม่ดี
- และการที่บริษัททยอยจ่ายปันผลกันออกมา ทำให้นักลงทุนบางส่วนขายหุ้นกันออกมาเช่นกัน
ที่ผ่านมา SET โดน Sell in May จริงหรือเปล่า
จากสถิติตั้งแต่ปี 2010-2019 SET ปรับตัวลดลง 8 ใน 10 ครั้ง
มีแค่ปี 2014 และปี 2016 ที่รอดเป็นบวกขึ้นมาได้ และเป็นการบวกแบบไม่มากนัก คือ
ปี 2014 +0.06%
ปี 2016 +1.4%
โดยเฉลี่ย 10 ปี SET ปรับตัวลดลง 1.99%
อุตสาหกรรมไหนติดลบหนักที่สุด
อันดับที่ 1 คือ กลุ่มเหมืองแร่ -8.16%
แต่เพราะมีหุ้นแค่ตัวเดียวคือ PDI และมีการปรับโครงสร้างธุรกิจจากสังกะสีมาสู่พลังงานทดแทน ทำให้ 2 ปีหลัง ผลตอบแทนเติบโตลดลงไปเยอะ เลยไม่น่าจะเป็นตัวแทนที่ดีเท่าไหร่
อันดับที่ 2 คือ ของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์ -4.66%
หุ้นในกลุ่มนี้ก็เช่น เลนส์แว่นตา TOG ถุงยางอนามัย TNR หรือผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพและความงาม APCO แต่ก็ต้องบอกว่า หุ้นในกลุ่มนี้ดูมีปัจจัยเฉพาะตัวที่แตกต่างกันไปในแต่ละบริษัท ไม่ได้ขึ้นหรือลงตามกันในแต่ละปี
อันดับที่ 3 คือ ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ -4.23%
เป็นไปได้ว่า ความผันผวนของราคาน้ำมันที่เกิดขึ้นบางช่วงเวลาในอดีตทำให้หุ้นในกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบทั้งจากรายได้และต้นทุนโดยตรง หรือกำไรและขาดทุนในสต็อคน้ำมัน หรือผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ส่งผลต่อวัตถุดิบที่ต้องใช้ของหุ้นแต่ละบริษัท
อันดับที่ 4 คือ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -4.14%
ปัจจัยหลักส่วนหนึ่งคือ ราคาที่ลดลงอย่างมากในปี 2019 ที่เป็นผลของสงครามการค้า ทำให้หุ้นในกลุ่มนี้มีผลตอบแทนที่ไม่ดี รวมไปถึงบางบริษัทที่อาจทำผลงานของตัวเองได้ไม่ดีนัก ลูกค้าลดลง หรือย้ายออเดอร์ไปสั่งที่ประเทศอื่น ก็ส่งผลให้กำไรปรับลดลง และราคาหุ้นปรับตัวลงมาในทิศทางเดียวกัน
อันดับที่ 5 คือ พลังงานและสาธารณูปโภค -3.76%
กลุ่มนี้มีทั้งหุ้นน้ำมันอย่าง PTT, PTTEP, PTG และก็โรงไฟฟ้าทั้ง EGCO, GPSC ซึ่งส่วนมากก็เป็นผลมาจากความผันผวนของราคาน้ำมันในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้น
อุตสาหกรรมไหนเป็นบวก
อันดับที่ 1 คือ กระดาษและวัสดุการพิมพ์ +3.34%
คล้ายๆ กับกลุ่มเหมืองแร่ คือ มีหุ้นแค่ตัวเดียวในกลุ่มนี้ นั่นก็คือ UTP และที่ผ่านมาก็มีช่วงที่ได้รับผลบวกอย่างมากจากราคากระดาษขึ้น ตอนที่จีนออกมาตรการควบคุมมลพิษ ประกอบกับ UTP มีการเพิ่มเครื่องจักรขยายกำลังการผลิต ทำให้กำไรเติบโต ณ ช่วงเวลานั้น
อันดับที่ 2 คือ ประกันภัยและประกันชีวิต +2.49%
ผลตอบแทนที่เป็นบวกอยู่ในช่วงปี 2010-2014 แล้วก็เริ่มถดถอยลงมาเรื่อยๆ ในปีหลังๆ ซึ่งก็ดูมีความสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยที่ค่อยๆ ปรับลดลงมา ทำให้หุ้นประกันภัยได้รับผลตอบแทนลดลงทั้งจากดอกเบี้ยและการลงทุน
อันดับที่ 3 คือ การแพทย์ +2.06%
เรียกได้ว่าเป็นกลุ่มที่แข็งแกร่งมาก คือ ผลตอบแทนเป็นบวกถึง 7 ปี ซึ่งก็ต้องบอกว่าเป็นหุ้นที่มีกำไรเติบโตมาตลอดและอยู่ในเทรนด์ของความต้องการดูแลด้านสุขภาพ และสังคมผู้สูงอายุ ประกอบกับการขยายตัวของโรงพยาบาลทั้งสร้างอาคาร เพิ่มศูนย์ต่างๆ และการเพิ่มขึ้นของคนไข้ต่างชาติ ก็เป็นปัจจัยผลักดันให้หุ้นกลุ่มนี้เติบโตมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
อันดับที่ 4 คือ ยานยนต์ +1.51%
หุ้นกลุ่มนี้บวกลบสลับกันไป ตามการเติบโตของรถยนต์ โดยเฉพาะช่วงที่มีแคมเปญรถคันแรกออกมาก็เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความต้องการรถยนต์และนำมาซึ่งการเพิ่มขึ้นของชิ้นส่วนยานยนต์อย่างมาก
อันดับที่ 5 คือ อาหารและเครื่องดื่ม +0.76%
กลุ่มนี้มีความหลากหลายทั้งร้านอาหาร เครื่องดื่ม น้ำตาล หมู ไก่ คือ สารพัดอาหารการกินอยู่ครบหมด ทำให้ต้องบอกว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่เป็นทั้งบวกลบ และไม่เกี่ยวข้องกันเลยในแต่ละช่วงเวลา ไม่ต่างอะไรกับกลุ่มของใช้ส่วนตัว
ข้อสรุปที่เราพอจะบอกได้จากการเห็นหุ้นที่บวกมากที่สุดและลบมากที่สุดก็คือ น่าจะเป็นเรื่องเฉพาะของแต่ละอุตสาหกรรม ความแข็งแกร่งเฉพาะตัว และความผันผวนของปัจจัยที่มีผลกระทบต่อตัวธุรกิจน่าจะมีผลมากกว่าเรื่องของการซื้อหรือขายเดือนไหน ส่วนการ Sell in May ก็อาจจะเป็นเรื่องของจังหวะเวลาที่เข้ามาสอดคล้องกับปัจจัยในแต่ละปีมากกว่า
แล้วปีนี้ SET จะโดน Sell in May หรือเปล่า
ถ้ามองในแง่ของภาพใหญ่ ก็มีโอกาสที่ SET อาจจะมีแนวโน้มปรับตัวลดลงได้เหมือนกัน เพราะว่า
- SET มีการ rebound ขึ้นมาค่อนข้างมากจากจุดต่ำสุด 969 มาจนถึง 1300 จุด เรียกได้ว่าขึ้นมาตลอดทาง และเป็นการขึ้นอย่างรวดเร็วในเดือนเมษายนด้วย
- P/E ของ SET อยู่ประมาณ 17 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ประมาณ 14-15 เท่า และสูงกว่าตลาดประเทศอื่น
- แนวโน้มเศรษฐกิจยังไม่สดใสมากนัก จากการที่ประเทศเราพึ่งพาการส่งออกและท่องเที่ยวเยอะมาก ทำให้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจต้องใช้เวลาสักระยะในการกลับไปเติบโต และคาดการณ์ EPS ปีนี้ก็น่าจะประมาณ 70-75
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็คงต้องขึ้นอยู่กับว่าจะมีปัจจัยบวกอะไรเข้ามาช่วยดันดัชนีได้ด้วยหรือเปล่า เช่น ผู้ติดเชื้อ COVID-19 เป็นศูนย์ หรือการเปิดเมืองทำได้เต็มรูปแบบโดยไม่มีคนติดเชื้อเพิ่ม หรืองบการเงินออกมาไม่แย่อย่างที่คาด เป็นต้น
สุดท้าย ไม่ว่าตลาดหุ้นจะเป็นอย่างไรในเดือน May สิ่งสำคัญที่เราต้องวางแผนกันก่อนล่วงหน้าก็คือ
ถ้า Sell in May จะทำอย่างไร
ถ้า Buy in May จะทำอย่างไร
เพื่อที่สุดท้ายพอร์ตเราจะได้ Doi Away
#ส่องหุ้นสู้วิกฤต #Jitta #วิตามินหุ้น
Source: S&P Global Market Intelligence เรียบเรียงโดย Jitta
ลงทะเบียนรับความรู้การลงทุน passive
รับความรู้การลงทุน passive ฟรี เพื่อเริ่มลงทุนอย่างสบายใจ กำไรอย่างยั่งยืน